thumbsup » บทเรียนจาก “ฌอน บูรณะหิรัญ” สิ่งใดควร-ไม่ควรทำเมื่อเกิดกระแสลบ

บทเรียนจาก “ฌอน บูรณะหิรัญ” สิ่งใดควร-ไม่ควรทำเมื่อเกิดกระแสลบ

21 ตุลาคม 2017
6   0

19 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันที่กระทู้เก่าเดือนกุมภาพันธ์ใน pantip.com ถูกหยิบขึ้นมาเป็นกระแสอีกครั้ง กระทู้นี้เป็นกระทู้แง่ลบของ “ฌอน บูรณะหิรัญ” ดาวรุ่งที่ถูกชูในฐานะไอดอลของเด็กรุ่นใหม่ ความน่าสนใจของเหตุการณ์นี้คือหลายคนยกย่องว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นกรณีศึกษาเรื่องการรับมือกระแสลบที่แบรนด์ควรศึกษา ซึ่งบทเรียนที่ได้จากกระทู้นี้ถือว่ามีหลายแง่มุมจนไม่อาจมองข้ามไปได้สักมุมเดียว

ต้นเหตุของเรื่องนี้คือกระทู้ชื่อ “..บริษัทที่สนใจจะจ้างคุณฌอน บูรณะหิรัญ ไปเป็นวิทยากร รบกวนคิดทบทวนให้ดี” เป็นกระทู้สนทนาที่ตั้งโดยผู้ใช้ชื่อ “นู๋จุ๋มมาใหม่” ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 00:30 น. เนื้อหาในกระทู้ระบุว่า “บริษัทของดิฉันได้จ้างคุณฌอนมาเป็นวิทยากร ดิฉันไม่ทราบหัวข้อเพราะไปเข้าห้องน้ำตอนพักเบรคแล้วกลับเข้ามา ตัวพาวเวอร์พอยด์คุณฌอนก็ไม่มีบอก แต่ว่าก็คิดในใจไม่เป็นไร” ก่อนจะสรุปว่าตลอดเวลาที่ฌอนพูดนั้น “เป็นครึ่งชั่วโมงที่น่าเบื่อและเสียเวลามาก”

กระทู้นี้เงียบเหงาและมีผู้ตอบ 3 ความเห็น ซึ่งก็พูดถึงฌอนในมุมกลางค่อนไปทางลบ เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ 21 กุมภาพันธ์ ความคิดเห็นที่ 4 ปรากฏขึ้น ทำให้ลมเปลี่ยนทิศ จนข้อความส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม กลายเป็นข้อความให้กำลังใจฌอน มีบางส่วนเท่านั้นที่ยังแสดงความเห็นแง่ลบ

เนื้อหาการตอบของฌอนน่าสนใจ ผู้อ่านบางรายชื่นชมว่าฌอนตอบได้ดีมีวุฒิภาวะ แต่บางรายก็บอกว่าฌอนโทษสิ่งรอบข้าง

ฌอนเริ่มด้วยการขอโทษที่ไม่สามารถทำให้เจ้าของกระทู้ประทับใจได้ แล้วยอมรับว่าเหตุการณ์วันนั้นมีปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง ไม่เหมือนกับงานอื่นที่ฌอนเคยไป ฌอนเล่าว่าไมค์เสียงไม่ออกขณะที่พูดไปสักพัก สไลด์ที่เตรียมไปถูกเปลี่ยนหน้างาน รวมถึงสไลด์ที่ฉายบนเวทีไม่ใช่อันล่าสุดที่ฌอนจะใช้ และการบีบเวลาให้ฌอนพูดสั้นลงเกือบครึ่งจากที่ตกลงไว้เพราะการจัดงานล่าช้า

ฌอนแสดงความแมนด้วยการบอกว่าเป็นความผิดของฌอนเองที่ยังไม่สามารถจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าเหล่านี้ได้ดีเท่ากับนักพูดมืออาชีพ หรือวิทยากรอาชีพ พร้อมกับสวมบทพระด้วยการบอกว่าเหตุผลเดียวที่ทำให้ฌอนตอบรับการเชิญจากงานต่างๆ คือฌอนอยากตอบแทนสังคมและผู้คนที่สนับสนุน เพราะธรรมชาติของฌอนเป็นคนขี้อาย ชอบอยู่บ้าน

“ผมตัดสินใจก้าวข้ามความกลัวที่จะพูดต่อหน้าผู้คน และเดินทางไปทุกภาคของประเทศไทย เพื่อไปพบเจอกับคนที่สนับสนุนผมผมได้ถ่ายรูป ได้พูดคุยกับเขา เป็นความสุขที่ทำให้ผมและทีมงานมีกำลังใจในการทำงานต่อ”

บทเรียนแรกที่เราได้จากฌอน คือต้องยอมรับผิด การแสดงความจริงใจด้วยการรับผิดและบอกเล่าความคิดของตัวเองในแง่บวกนั้นเป็นเรื่องดี ถือเป็นสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเกิดกระแสลบใดขึ้นมา เห็นได้ชัดจากความเห็นเกิน 90% ที่ชื่นชมฌอนว่าส่งข้อความตอบได้ดี

อีก 10% ที่ไม่ได้ชื่นชมฌอนสามารถมอบบทเรียนที่ 2 ให้นักการตลาดทุกคนได้ นั่นคือการบอกเล่าเหตุผลนั้นอาจเป็นดาบสองคม บางความเห็นมองว่าฌอนโทษไมค์ โทษสไลด์ รวมถึงโทษเวลา ซึ่งแม้จะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่ต้องยอมรับว่านี่คือช่องที่ทำให้เกิดภาพลบกลับมา

บทเรียนสุดท้ายคือเรื่องค่าตอบแทนเป็นเรื่องอ่อนไหว กรณีนี้ ฌอนอาจจะมองว่าต้องการบอกให้คนเข้าใจจุดประสงค์ของการไปบรรยายว่าไม่เกี่ยวกับเงิน แต่ (อีกแล้ว) บางความเห็นมองว่าอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นแค่ “ข้ออ้างเท่ห์ๆ” เท่านั้น

สำหรับผู้ไม่รู้จักฌอน สามารถชมคลิปของฌอนเพิ่มเติมได้จากด้านล่าง

ที่มา: Pantip

 
Source: thumbsup

The post บทเรียนจาก “ฌอน บูรณะหิรัญ” สิ่งใดควร-ไม่ควรทำเมื่อเกิดกระแสลบ appeared first on thumbsup.

[source: http://thumbsup.in.th/2017/10/sean-buranahiran/]