ข่าวไอที Blognone » สรุปประเด็นฉาว Facebook กับ Cambridge Analytica กรณีข้อมูลผู้ใช้หลุด 50 ล้านบัญชี

สรุปประเด็นฉาว Facebook กับ Cambridge Analytica กรณีข้อมูลผู้ใช้หลุด 50 ล้านบัญชี

20 มีนาคม 2018
8   0

2-3 วันนี้ ชาว Blognone อาจได้ยินข่าวดราม่าระลอกใหม่ของ Facebook ประเด็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีบริษัทนำข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook ไปทำแคมเปญหาเสียงทางการเมืองในสหรัฐฯ ข่าวนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและในแง่การเมืองสหรัฐ

เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจที่มาที่ไปของประเด็นดังกล่าว Blognone จึงสรุปเหตุการณ์ในบทความนี้

No Description

ทำความรู้จัก Cambridge Analytica และ แอพพลิเคชั่น thisisyourdigitallife

ก่อนจะเล่าที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ต้องทำความรู้จักบุคคลสำคัญในประเด็นก่อน Cambridge Analytica หรือ CA คือบริษัทวิจัยข้อมูล ก่อตั้งที่ลอนดอน เน้นวัตถุประสงค์เพื่อกลยุทธ์การเมือง และการหาเสียงเลือกตั้ง

CA เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ช่วยสำคัญในการวิจัยข้อมูลทำแคมเปญหาเสียงให้ Ted Cruz นักการเมืองพรรครีพับลิกัน ในปี 2015 และแคมเปญการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจาก EU หรือ Brexit

CA ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยทำข้อมูล แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016

CA ตกเป็นที่วิจารณ์ในปี 2017 เมื่อสภาคองเกรสสืบสวนประเด็นข่าวปลอม และตั้งข้อสงสัยว่า CA อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแพร่กระจายข่าวปลอมจากรัสเซียบนโซเชียลมีเดีย โดยใช้วิธี microtargetting (การสื่อสารกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน โดยใช้ช่องทางหลากหลาย เช่น โทรศัพท์, อีเมล, สื่อวิทยุโทรทัศน์, โฆษณาออนไลน์ เป็นต้น)

No Description
ภาพจาก Cambridge Analytica

ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้อีกคนคือ Dr. Aleksandr Kogan อาจารย์ด้านจิตวิทยาของ University of Cambridge ในสหราชอาณาจักร ผู้สร้างแอพพลิเคชั่น thisisyourdigitallife เป็นแอพทำนายบุคลิกภาพโดยใช้มูลทางจิตวิทยา

แอพดังกล่าวใช้การล็อกอินผ่านบัญชี Facebook โดยมีสิทธิได้ข้อมูลต่างๆ จากผู้ใช้งาน Facebook (ที่สมัครใจให้ข้อมูล) เช่น สิ่งที่แชร์, ไลค์, ข้อมูลเพื่อนๆ มีใครบ้าง เป็นต้น

thisisyourdigitallife มีผู้ใช้งาน 270,000 ราย ปัญหาคือในอดีตนั้น API ของ Facebook เปิดให้แอพสามารถดึงข้อมูลเพื่อนใน Friends list ของเราได้ด้วย ส่งผลให้ thisisyourdigitallife สามารถเข้าถึงบัญชีผู้ใช้อื่นที่เกี่ยวข้องได้อีก 50 ล้านราย (ภายหลังในปี 2015 Facebook ปรับข้อตกลงการใช้งาน หยุดให้บริการ API ที่ปล่อยแชร์ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวแล้ว)

จนกระทั่งในปี 2015 Facebook ได้รับรายงานว่า Kogan ส่งต่อข้อมูลที่ตัวเองมี ไปให้บริษัท Cambridge Analytica และ SCL Group (Strategic Communication Laboratories) บริษัทแม่ของ Cambridge Analytica รวมถึงมีผู้ชายอีกคนคือ Christopher Wylie จากบริษัทข้อมูล Eunoia Technologies ที่ทำงานให้ CA ด้วย

การส่งต่อข้อมูลนี้ถือว่าละเมิดกฎของแพลตฟอร์ม ทาง Facebook จึงได้ทำข้อตกลงกับทั้งสาม (SCL, Kogan และ Wylie) ให้ทำลายข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ไปจากแอพ thisisyourdigitallife ทิ้งไปเสีย ทั้งสามก็ยอมทำตามแต่โดยดี

ดราม่าระลอกใหม่เกิดขึ้น เมื่อ Facebook พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ถูกทำลาย

วันที่ 17 มีนาคม 2018 Facebook ออกมาประกาศผ่านเว็บของบริษัทว่า ได้แบนบัญชี CA และ SCL Group บริษัทแม่ ด้วยเหตุผลว่า CA ไม่ทำตามข้อตกลงว่าจะทำลายข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook ที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องทิ้ง

Facebook ระบุด้วยว่า แม้ Kogan จะสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้อย่างถูกต้อง และเข้าถึงผ่านช่องทางที่เหมาะสม แต่การที่ Kogan ส่งต่อข้อมูลให้ผู้อื่นนั้นผิดกฎแพลตฟอร์ม

Facebook ระบุว่าจะสอบสวนเรื่องนี้เพิ่มเติม และจะดำเนินการตามกฎหมายกับ CA/SCL ด้วยถ้าจำเป็น อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยว่าข้อมูลหลุดออกมาจาก Facebook เองหรือไม่ ซึ่ง Facebook ก็ยืนยันว่าข้อมูล ไม่ได้หลุดจากระบบ

ด้าน CA ก็ออกแถลงการณ์โต้ว่าตนลบข้อมูลแล้ว ตามข้อตกลงที่ทำไว้

มีรายงานจากเว็บไซต์ Channel 4 News แอบส่งนักข่าวปลอมตัวไปคุยกับ Alexander Nix ซีอีโอของ CA และแอบถ่ายคลิปตอนพูดกันมาเผยแพร่ เมื่อนักข่าวถามเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัทในการขุดคุ้ยข้อมูลของพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม Nix พูดว่า "ส่งผู้หญิงสวยๆ ไปที่บ้านของผู้สมัคร" เป็นเชิงว่าเอาภาพหลุดมาทำลายชื่อเสียง

ในรายงานของ Channel 4 News ระบุด้วยว่า CA มีลูกค้าเป็นนักการเมืองทั่วโลก เช่น ไนจีเรีย, เคนยา, สาธารณรัฐเช็ก, อินเดียและอาร์เจนตินา นอกเหนือจากข้อกล่าวหาเรื่องดูดข้อมูลจาก Facebook แล้ว CA ยังเป็นศูนย์กลางข่าวฉาวเรื่องการแพร่กระจายข้อมูลปลอมหลายครั้ง หนึ่งในผู้บริหาร CA พูดเองเลยว่า การจะทำแคมเปญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ใช้ข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้ผล ต้องใช้สิ่งกระตุ้นอารมณ์จึงจะได้ผล (ช่วงนาทีที่ 7.41 ในคลิปด้านล่าง)

Facebook เจอแรงต้านอีกครั้ง

ในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าความผิดพลาดเกิดจากใคร ใครเป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบ และดูท่าว่าเรื่องนี้จะต้องเกาะติดอีกยาวกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่สังคมก็รู้สึกไม่พอใจไปแล้ว เพราะประชาชนไม่รู้มาก่อนว่าข้อมูลของคนถูกใช้ประโยชน์ในทางใดบ้าง

ข่าวข้อมูลหลุดครั้งนี้ สร้างแรงกระเพื่อมต่อ Facebook อย่างหนักจากหลายด้าน ดังนี้

ที่มา

[source: https://www.blognone.com/node/100842]