thumbsup » 4 บทสรุปในวันที่ “JD.com” บุกไทยเรียบร้อย

4 บทสรุปในวันที่ “JD.com” บุกไทยเรียบร้อย

19 กันยายน 2017
10   0

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คู่แข่ง Alibaba อย่าง JD ประกาศลุยประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนบทสรุปที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการตอกย้ำว่ากลุ่มทุนจีนยังคงหลงใหลในความหอมหวานของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีนัยสำคัญ

ประเด็นชัดเจนแรกที่เราเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของ JD คือบริษัทจีนมีความสนใจในตลาดเทคโนโลยีอาเซียนเพิ่มขึ้น ประเด็นนี้ชัดมากเพราะ JD เตรียมเงินลงทุนมหาศาลเพื่อลุยตลาดประเทศไทย ตัวเลขที่มีการเปิดเผยคือเป้าหมายการลงทุนในไทยมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ 2 เรื่องหลัก คือบริการช็อปปิ้งและบริการเงินส่วนบุคคล

ตัวเลข 500 ล้านเหรียญนั้นถือว่าสมน้ำสมเนื้อกับบริษัทค้าปลีกออนไลน์ที่มีมูลค่า 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐอย่าง JD โดยผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ JD “Richard Liu” ให้สัมภาษณ์ว่า “ประชากรจำนวนมากและโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาแล้วของไทย ซึ่งรวมถึงเครือข่ายโลจิสติกส์ระดับชาติที่มีแข็งแกร่ง ทำให้เกิดโอกาสทองสำหรับบริการอีคอมเมิร์ซและฟินเทค

โอกาสทองนี้นำไปสู่ประเด็นที่ 2 นั่นคือตลาดอาเซียนกำลังโตจริงจัง จุดนี้การสำรวจล่าสุดพบว่าตลาดช็อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียมีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนคือ 899 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นแม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นเพียงพายชิ้นเล็กของวงกลมใหญ่ แต่ตลาดก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ตลาดนี้หอมหวลยั่วยวนบริษัทจีนที่ต้องการขยายในต่างประเทศ

เงินสะพัดในวงการช็อปปิ้งออนไลน์ของประเทศไทยคาดว่าจะมีมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า โดย JD เข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแล้วตั้งแต่ปี 2015

ประเด็นที่ 3 คือการแข่งขันที่จะดุเดือดกว่าเดิม เพราะการขยายธุรกิจสู่ประเทศไทยจะทำให้ JD ต้องชนกับคู่แข่งอย่าง Alibaba ซึ่งดำเนินกิจการ Lazada ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาระยะหนึ่งแล้ว จุดนี้การสำรวจล่าสุดชี้ว่า Lazada ครองส่วนแบ่งการช็อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม ก้าวใหม่ของ JD จะช่วยกันท่า Amazon ให้บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนสามารถเตรียมรับมือกับ Amazon ได้ล่วงหน้า

ประเด็นที่ 4 คือการหาพันธมิตร การเข้ามาของ JD เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์ นั่นคือการดำเนินกิจการในรูปแบบร่วมค้า joint venture ซึ่ง JD และกลุ่มเซ็นทรัลของไทยจะแบ่งกันลงทุนมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐคนละครึ่ง

กลุ่มเซ็นทรัลนั้นเป็นบริษัทค้าปลีกไทยที่ตั้งขึ้นนานกว่า 70 ปี ตัวบริษัทยังคงเป็นบริษัทครอบครัวซึ่งดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าและโรงแรมรีสอร์ทมากกว่า 40 แห่ง รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ กรณีธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ กลุ่มเซ็นทรัลในฐานะพันธมิตรเพื่อนสนิทของ JD จะเสนอร้านค้าและห้างสรรพสินค้าของตัวเองเพื่อเป็นแหล่งสินค้าแก่ลูกค้าในกรุงเทพมหานคร ขณะที่ตลาดหรือ marketplace ใหม่ที่ JD จะเปิดเพื่อดำเนินการในประเทศไทย ก็จะเป็นหน้าร้านสำหรับให้กลุ่มเซ็นทรัลขายสินค้าปลีกได้

CEO ของ JD มั่นใจว่าการทำงานร่วมกับกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และเครือข่ายอื่นจะทำให้ JD มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน ในวันที่ JD ขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: TechinAsia

 
Source: thumbsup

The post 4 บทสรุปในวันที่ “JD.com” บุกไทยเรียบร้อย appeared first on thumbsup.

[source: http://thumbsup.in.th/2017/09/jd-expands-to-thailand/]