ข่าวไอที Blognone » กสทช. สุภิญญา อธิบายมาตรา 9 มองอำนาจควบคุมเป็นหลัก ช่อง 3 แยกนิติบุคคลไม่ขัดกฎหมาย

กสทช. สุภิญญา อธิบายมาตรา 9 มองอำนาจควบคุมเป็นหลัก ช่อง 3 แยกนิติบุคคลไม่ขัดกฎหมาย

1 ตุลาคม 2014
67   0

เมื่อวานนี้ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียล อธิบายประเด็นเรื่องช่อง 3 ถึงมติบอร์ด กสท. เรื่องการออกอากาศคู่ขนาน (ที่ช่อง 3 บอกว่าไม่แก้ปัญหา) หลังจากได้หารือกับตัวแทนช่อง 3 ช่วงเย็นเมื่อวานนี้

โพสต์ต้นฉบับค่อนข้างยาว ฉบับเต็มอ่านได้ท้ายข่าว ส่วนประเด็นแบบสรุปมีดังนี้

  • กสท. มองเรื่องมาตรา 9 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า "ประกอบกิจการด้วยตนเอง" ไม่ใช่แค่เรื่องนิติบุคคลเดียวกันหรือไม่ หรือนำเนื้อหาจากช่องอื่นมาฉาย 100% หรือไม่ เช่น กรณีของ True Visions นำรายการ BBC/CNN มาถ่ายทอดต่อ 100% ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ประกอบกิจการด้วยตัวเอง
  • หัวใจสำคัญของมาตรา 9 คือ "ผู้มีอำนาจควบคุมช่องต้องไม่เปลี่ยนมือ" กสท. จึงมองที่อำนาจควบคุมการบริหารจัดการเป็นสำคัญ (ซึ่งกรณีช่อง 3 นั้นกลุ่ม BEC World มีอำนาจควบคุมทั้งสองบริษัทลูกแอนะล็อก-ดิจิทัล)
  • ดังนั้นถ้าช่อง 3 ไม่ได้นำคลื่นที่ประมูลมาได้ไปขายหรือให้ "คนอื่น" (ที่อยู่นอกกลุ่มบริษัท) เช่าช่วงต่อ ก็ไม่ขัดมาตรา 9
  • การแก้มาตรา 9 ให้คนอื่นเช่าช่วงต่อได้ 100% (ตามแนวทางที่ กสทช. พ.อ.ดร.นที เสนอ) จึงผิดเจตนารมณ์กฎหมาย และจะเป็นอันตรายมากต่อวงการทีวีไทยในอนาคต

ที่มา - Facebook Supinya Klangnarong

การหารือร่วมกับตัวแทนช่อง3เมื่อช่วงเย็นเสร็จแล้ว แต่เรื่องก็ยังไม่จบอยู่ดี
#คหสต. กสท.3 คนทำเต็มที่ภายใต้กรอบกฏหมายแล้ว ควรจบตรงมติเมื่อวานนี้

วันนี่ดิฉันได้อธิบายให้ตัวแทนช่อง3ฟังถึงที่มาของหลักคิดมติ กสท. โดยเฉพาะเรื่องมาตรา9 พรบ.51 กับมาตรา43 พรบ.53 โดยละเอียดแล้ว

ดิฉันหวังว่าทางตัวแทนช่อง3 จะเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น แต่ถ้ายังไม่กระจ่างหรือไม่มั่นใจอีก ก็สุดแล้วแต่ เพราะ กสท.ได้เสนอทางออกให้แล้ว ถ้าไม่เลือกก็ต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น

จะใช้พื้นที่ใน TL อธิบายหลักคิดของมาตรา9 พรบ.51 และ มาตรา 43 พรบ.53 อีกครั้ง
Attention please..

1. การประกอบกิจการด้วยตนเอง ตามมาตรา9 (พรบ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551)

2.ประเด็นหลักไม่ใช่เรื่องนิติบุคคลเดียวกันหรือไม่ แต่พิจารณาที่การกระทำ/พฤติกรรมว่าการนำเนื้อหา (content) มาในกรณีนี้เป็นการ 'ประกอบกิจการด้วยตนเอง' หรือไม่

3.การนำเนื้อหา(content)จากช่อง analog มาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ digital กรณีนี้ ยังไม่ใช่จุดที่จะตัดสินว่า 'ไม่ได้ประกอบกิจการด้วยตนเอง'

4. กสท.ต้องดูพฤติกรรมอื่นๆประกอบ เช่น อำนาจในการควบคุมกิจการ การปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาต และ รับผิดชอบในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น

5.อาทิ @TrueVisions (ผู้รับใบอนุญาตช่องฯ) นำcontent ของ CNN/BBC/HBO ทั้งหมดมาออก24ชั่วโมงก็มิได้หมายความว่าทรูวิชั่นส์ไม่ได้ประกอบกิจการด้วยตนเอง

6. ตราบใดที่ @TrueVisions ยังบริหารจัดการกิจการนั้นด้วยตนเองและปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาต

(มาตรา9 นี้ใช้กับผู้รับใบอนุญาตทุกราย)

7. ดูรายละเอียดของผู้รับใบอนุญาตอย่าง @TrueVisions CTH GMM RS ในการนำผังรายการของต่างประเทศมาออก 24 ชั่วโมงในในเว็บ กสทช.

8. มาตรา9 ใช้บังคับกับผู้รับใบอนุญาตทุกรายทั้งทีวีที่ใช้คลื่น-ไม่ใช้คลื่น ฟรีทีวี-เพย์ทีวี
หัวใจสำคัญคือ
'ผู้มีอำนาจควบคุมไม่เปลี่ยนมือ'

9. เมื่อมาตรา 9 ใช้กับผู้รับใบอนุญาตทุกราย แต่ความต่างของ ฟรีทีวีและเพย์ทีวีคือ 'ผังรายการต้องเป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตนั้น'

10. อาทิ ฟรีทีวีต้องจัดทำผังที่ละเอียดว่าเพย์ทีวี เช่นช่องวาไรตี้ต้องมีรายการข่าวไม่ต่ำว่าร้อยละ25 มีรายการเด็ก ข่าวพระราชสำนัก ต้องจัดเรท เป็นต้น

11. เรื่องผังรายการสำคัญไม่แพ้ สัดส่วนผู้ถือหุ้น/ความเป็นเจ้าของ ถ้าผู้รับใบอนุญาตใดมีการเปลี่ยนแปลงตัวอำนาจการควบคุม ต้องแจ้ง กสทช. เพื่อพิจารณานัยยะสำคัญ

12 แม้แต่กลุ่มวิทยุท้องถิ่นเล็กๆ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการที่มี 'อำนาจควบคุม' ของบริษัท ต้องแจ้ง กสทช.เพื่อพิจารณาว่าถ่ายโอนสิทธิ์หรือไม่

13. เพื่อป้องกันการถ่ายโอนสิทธิ์ในใบอนุญาตใช้คลื่นฯหรือการประกอบกิจการ ปรกติ กสทช. จะดูที่ 'ผู้มีอำนาจควบคุม' เป็นหลัก ไม่ใช่ผังรายการของสถานี

14.ดังนั้น การจะใช้ดุลยพินิจตัดสินว่า ผู้รับใบอนุญาตนั้น ประกอบกิจการด้วยตนเองหรือไม่ จึงจะพิจารณาที่อำนาจในการควบคุม บริหารจัดการเป็นสำคัญ

15.จากข้อ 1-14 พูดถึงมาตรา9 พรบ.51 ที่เน้นในมิติการประกอบกิจการ
จากนี้จะพูดถึงมิติสิทธิ์การใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา 43 พรบ.กสทช.53บ้าง

16.มาตรา43 พรบ.องค์กรฯ เป็นเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัว โอนไม่ได้ มอบการบริหารจัดการให้บุคคลอื่นประกอบกิจการแทนไม่ได้

17.กรณีนี้แม้ช่อง3อนาล็อก และ ช่อง3ดิจิตอลจะเป็นกิจการที่ใช้คลื่น แต่การไปนำ content มาออกอากาศ
ไม่ใช่การโอนสิทธิในคลื่นความถี่ให้ผู้อื่นบริหารแทน

18. เทียบเคียงกับการใช้คลื่นด้านโทรคมนาคม บอร์ด กทค. (จากรายงานคณะอนุกรรมการเพื่อการศึกษามาตรา 46 พรบ.ประกอบกิจการโทรคม)

19. คำว่า 'ประกอบกิจการ' ตามมาตรา 46 ของโทรคมนาคม เทียบได้กับมาตรา 43 ของด้านวิทยุ-โทรทัศน์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิ์ในคลื่นความถี่

20. มาตรา43 (วิทยุ-ทีวี) และ มาตรา46 (โทรคมนาคม) มุ่งหมายถึงการดำเนินการในส่วนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ (Essential element) ของการประกอบกิจการ

21. การตีความคำว่า 'บริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยตนเอง' จึงต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการที่ว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องสามารถควบคุม (control)

22.ผู้รับใบอนุญาตฯจะต้องสามารถควบคุมการใช้งานคลื่นความถี่ซึ่งเป็นเป็นองค์ประกอบหลักได้และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคลื่นด้วย

23. สรุป 'การประกอบกิจการด้วยตนเอง' หรือไม่ จะดูที่อำนาจในการควบคุม (control) องค์ประกอบสำคัญ และ การต้องรับผิดชอบกับการกระทำต่างๆ

24. อย่างไรก็ตาม ผู้รับใบอนุญาตทำดิจิตอลทีวีทุกราย มีรายละเอียดสำคัญคือต้องทำตาม 'เงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบกิจการ' ประเภทนั้นๆด้วย

25. ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จะต้องไม่โอนสิทธิ์ในการใช้คลื่นไปให้คนอื่น และ ต้องมีอำนาจบริหารจัดการสถานี รับผิดชอบเนื้อหาเต็ม

ไม่ว่าทางเครือช่อง3ดิจิตอลจะไปจัดทำ-จัดซื้อ-จัดหา-จัดจ้างเนื้อหามาจากที่ใด แต่ต้องทำตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตครบถ้วนเหมือนช่องอื่นๆ /จบ/

000000

สรุปแบบบ้านๆคือ ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จะเที่ยวเอาคลื่น/สิทธิ์ในประกอบกิจการไปขายหรือให้คนอื่นเช่าช่วงต่อทั้งหมดไม่ได้ หัวใจมาตรา9 อยู่ตรงนีี้

ดังนั้น ถ้าเครือช่อง3ดิจิตอล ยืนยันได้ว่าไม่ได้นำคลื่น หรือสิทธิ์ในการประกอบกิจการไปขายต่อหรือให้คนอื่นเช่าช่วงต่อ (ทั้งหมด) ก็ไม่ควรขัดมาตรา9

สรุปแบบบ้านๆอีกที
การไปซื้อเนื้อหาจากที่อื่นมาออกในช่องตัวเอง ไม่เป็นปัญหาเท่าการขายเวลาให้คนอื่นเช่าช่วงเกินข้อกำหนดตามกฏหมาย #มาตรา9

ช่อง3ดิจิตอลไปจัดซื้อจัดจ้าง content จากบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทในเครือตนเองก็ยังทำได้ ตราบเท่าที่มีอำนาจบริหารจัดการสิทธิ์นั้นในช่องของตน

ถ้าช่อง3ดิจิตอลจะไปจัดซื้อ-จัดหาเนื้อหามาจากช่อง3อนาล็อกด้วยกันเอง ยิ่งง่ายกว่า เพราะอยู่ใน holding company เดียวกัน ที่โยงอำนาจควบคุมกิจการชัดเจน

มาตรา9 ไม่ได้ห้ามผู้รับใบอนุญาต ไปจัดซื้อ-จัดหา-จัดจ้างเนื้อหารายการจากที่อื่นๆ แต่ห้ามการขายโอนสิทธิ์ประกอบการหรือห้ามให้คนอื่นเช่าช่วงต่อ

การประกอบกิจการด้วยตนเอง คือ การต้องไม่โอนสิทธิ์การประกอบกิจการไปให้คนอื่นเช่าช่วงต่อเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดตามมาตรา 9

ทั้งหมดคือการอธิบายหลักคิดเรื่องมาตรา9 และมาตรา 43 ของข้าพเจ้าในฐานะคนที่มีส่วนร่วมร่าง พรบ.กสทช. 53 และในฐานะที่ใช้อำนาจกำกับดูแล (ใครเห็นต่างแย้งได้ค่ะ)

ในทางตรงกันข้าม การจะไปแก้ประกาศตามมาตรา9 ให้คนอื่นเช่าช่วงจาก 40% ได้ถึง100% ยิ่งขัดเจตนารมย์ของมาตรา9 จะกระทบภาพรวมกฏหมายทั้งหมด น่ากลัวมาก

อย่าไปสับสนกับคำว่า คนละนิติบุคคล ให้เน้นที่การ 'ประกอบกิจการด้วยตนเอง' และ การไม่ให้เช่าช่วงต่อ(แบ่งเวลา)
จับหลักกฏหมายให้ดีแล้วจะเห็นคำตอบชัดเจน

สรุปอีกครั้ง ช่อง3อนาล็อกมีทางออกบนช่อง3ดิจิตอล ถ้ายินยอมให้ช่อง3ดิจิตอลบริหารจัดการทั้งหมดตามเงื่อนไข โดยไม่จำเป็นและไม่ควรไปแก้ประกาศใดๆทั้งสิ้น

ที่สำคัญ ถ้าเราไปนิยามช่อง 3อนาล็อกกับ3ดิจิตอล เป็น 'คนอื่น' ของกันและกัน จะยุ่งมากในแง่ของการกำกับ media ownership และการครอบงำกิจการสื่อ

รายละเอียดลึกๆทางช่อง3ดิจิตอลต้องไปเคลียร์กับช่อง3อนาล็อกเอง ไม่ใช่ภาระของ กสทช.
สิ่งที่ กสท.จะพิจารณาคือการยื่นขอออนแอร์มาในนามของ3ดิจิตอลแบบครบถ้วน

ทุกปัญหามีทางออก แต่ถ้าไม่ประสงค์จะเดินออก ก็มิอาจบังคับใจ
แต่ก็ต้องตกอยู่ในสภาพที่กติกากลางกำหนดไว้
ถ้าคนใดแหกกฏ จะกระทบต่อคนอื่นๆทั้งหมด เขาก็คงไม่ยอมเช่นกัน

กสทช. ก็ต้องรักษาความเป็นธรรมในกติกาที่ทุกฝ่ายรับรู้ร่วมกันมาแต่แรก

ไม่เชื่อก็ต้องถาม ช่อง7 ช่อง9 รวมช่อง ThaiPBS และ ฟรีทีวีดิจิตอลใหม่ทุกช่องว่าเขารับรู้กติกานี้ร่วมกันมาตั้งแต่ต้นหรือไม่อย่างไร

TV3, Broadcast, Law, NBTC, Thailand,

[source: https://www.blognone.com/node/61087]