kengcom เว็บไซต์ที่รวบรวม ข่าววงการไอที และ เทคโนโลยี 2017

คดีอีเมลนอกประเทศ รัฐบาลสหรัฐ v. ไมโครซอฟท์ ถูกศาลตัดจบ เพราะกฎหมายใหม่ผ่านสภา

หลังจากการพิจารณาคดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีการพูดถึงว่าควรมีการออกกฎหมายที่ร่วมสมัยกว่ากฎหมายเดิมที่ใช้ตั้งแต่ปี 1986 ว่าจะเป็นวิธีการยุติข้อพิพาทได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม สภาคองเกรสลงมติให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการใช้งานข้อมูลในต่างประเทศอย่างโปร่งใส (Clarifying Lawful Overseas Use of Data Act หรือ CLOUD Act) เป็นกฎหมายต่อไป

สัปดาห์ต่อมา ทั้งไมโครซอฟท์และกระทรวงยุติธรรมแถลงขอให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าทางศาลสหรัฐฯ มีอำนาจออกหมายค้นข้อมูลดังกล่าวได้ และบริษัทมีสิทธิคัดค้านได้ว่าหมายดังกล่าวขัดกับกฎหมายของต่างประเทศ

ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี*นี้พร้อมกล่าวว่า "ไม่มีข้อพิพาทระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่ายอีกต่อไปแล้ว"

ภายหลังจากศาลมีคำสั่ง ประธานบริษัทและหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของไมโครซอฟท์ Brad Smith กล่าวว่าไมโครซอฟท์ยินดีที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดี เป้าหมายของบริษัทในการต่อสู้คดีตลอดมาคือการมีกฎหมายใหม่ และข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีมาตรการรวบรวมพยานหลักฐานดิจิตอลข้ามพรมแดน ที่มีความเข้มงวดในการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว

ส่วนโฆษกของกระทรวงยุติธรรมปฏิเสธจะให้ความเห็น

ตอนนี้กระทรวงยุติธรรมได้ขอออกหมายตาม CLOUD Act แล้ว และไมโครซอฟท์กำลังพิจารณาหมายดังกล่าวอยู่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป

*จำหน่ายคดี คือ การที่ศาลยุติการพิจารณาคดีโดยไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี

ที่มา: Windows Central, Reuters

No Description

[source: https://www.blognone.com/node/101702]

Exit mobile version