kengcom เว็บไซต์ที่รวบรวม ข่าววงการไอที และ เทคโนโลยี 2017

ซิกเว่ ยืนยัน Telenor ไม่ถอนตัวจากไทย, กำลังพิจารณาเลือกซีอีโอใหม่ dtac

จากประเด็นหลายๆ อย่างของ dtac ในช่วงหลัง ตั้งแต่ยอดลูกค้าถดถอย ไปจนถึงการประกาศลาออกของซีอีโอ ลาร์ส นอร์ลิ่ง อาจทำให้ความเชื่อมั่นใน dtac สั่นคลอน

วันนี้ Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณซิกเว่ เบรกเก้ ประธานและซีอีโอของ Telenor Group ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ dtac ที่เดินทางมายังประเทศไทยพอดี และได้ถามคำถามที่หลายคนอยากรู้ว่า "Telenor จะยังอยู่ในเมืองไทยต่อไปหรือไม่"

No Description

ยืนยัน Telenor ไม่ถอนตัวจากเมืองไทย

ซิกเว่ เริ่มต้นด้วยคำว่าที่เขามาวันนี้ มีเรื่องหนึ่งที่เหมือนเดิม เรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนไป (one thing is the same, one thing is different)

เรื่องที่เหมือนเดิมเสมอ แม้จะถูกถามเสมอมาตลอด 18 ปีคือ Telenor จะยังยืนหยัดทำธุรกิจอยู่ในเมืองไทยต่อไป อันนี้ไม่ใช่สัญญาลมปาก แต่เป็นเพราะ dtac ถือเป็นบริษัทที่ทำเงินให้ Telenor Group มากเป็นอันดับสองในเครือ รองจาก Telenor ในนอร์เวย์ประเทศแม่เท่านั้น

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เปลี่ยนไปมาก นี่เป็นปัญหาที่บริษัทโทรคมนาคมในโลกทุกรายกำลังเผชิญอยู่ และ Telenor ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ของโลกก็เจอปัญหานี้ คำถามคือจะปรับตัวอย่างไร ให้บริษัทเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น

สิ่งที่ Telenor ทำกับ dtac อยู่ในตอนนี้คือปรับบริษัทให้กลายเป็นดิจิทัล (digital company) เพิ่มช่องทางการขายดิจิทัล เพิ่มบริการรูปแบบใหม่ๆ อย่าง LINE Mobile รวมถึงสนับสนุนสตาร์ตอัพ ในแง่ของตัวองค์กรเองก็ต้องยืดหยุ่นมากขึ้น มีไดนามิกมากขึ้น บริษัทต้องเรียนรู้จากบริษัทอย่าง Alibaba, Google หรือ Amazon ว่ามีจุดเด่นอย่างไร

ซิกเว่ยอมรับว่าการพยากรณ์อนาคตเป็นเรื่องยาก ไม่มีใครรู้ว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคตจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ Telenor มอง dtac เป็นบริษัทต้นแบบที่ใช้ทดลองสิ่งใหม่ๆ และถ้าสำเร็จก็จะขยายไปทำกับบริษัทอื่นในเครือต่อ ตัวอย่างเช่น ตอนนี้กำลังขยายบริการแบบเดียวกับ LINE Mobile (แต่ใช้แบรนด์อื่น) ในบังกลาเทศแล้ว

ยอมสละเป้าระยะสั้น เพื่ออนาคตระยะยาว

ซิกเว่ตอบคำถามประเด็นการเสียลูกค้า เสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง ว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่เขามองถึงเป้าหมายระยะยาวมากกว่าระยะสั้น บริษัทไม่ได้ต้องการชนะทางตัวเลขในไตรมาสหน้า แต่ต้องการให้ตัวเองอยู่รอดได้ในอีก 10 ข้างหน้า

ซิกเว่บอกว่า สมัยที่เขาเป็นซีอีโอของ dtac ตลาดตอนนั้นเป็นพรีเพด บริการเสียง การเอาชนะกันอยู่ที่ตัวแทนจำหน่าย (distribution) แต่ตลาดตอนนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก บริการกลายเป็นข้อมูล รายได้หลักมาจากโพสต์เพดแทน การเอาชนะกันอยู่ที่บริการ (service) และสภาวะของ dtac เริ่มเหมือนบริษัทโทรคมนาคมในสแกนดิเนเวีย มากกว่าบริษัทโทรคมนาคมในเอเชีย

ตอนนี้ dtac หันมาเน้นลูกค้ากลุ่มโพสต์เพดที่มีความยั่งยืนมากกว่า (รายได้จากโพสต์เพดเกิน 50%) และลดการทำตลาดพรีเพดลงหลายช่องทาง เช่น การช่วยจ่ายค่าเครื่อง (handset subsidy) ก็เลิกทำแล้วเพราะใช้เงินเยอะ หันมาเน้นการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว โดย DiGi ของมาเลเซียก็อยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน

ส่วนการปรับลดค่าใช้จ่าย ปรับลดพนักงาน ก็สอดคล้องอยู่ในยุทธศาสตร์เดียวกัน คือทำองค์กรให้เล็ก ลีน ถือเป็นส่วนหนึ่งของ transformation ครั้งใหญ่ของบริษัท สถานะการเงินของบริษัทยังแข็งแกร่ง มีอัตรากำไรสูงแม้รายได้จะลดลงก็ตาม การลดค่าใช้จ่ายของ dtac ไม่ใช่การขนเงินกลับไปจ่ายปันผลที่นอร์เวย์ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการลงทุนในอนาคต

ซิกเว่ระบุว่าช่วงนี้ลูกค้าอาจเห็นแคมเปญโฆษณาของ dtac น้อยลง นั่นเป็นความตั้งใจ เพราะมองว่าการยิงโฆษณาแบบแมสเริ่มไม่ได้ผลอีกต่อไป dtac กำลังเปลี่ยนวิธีมาคุยกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลโดยตรงแทน ดูจากภายนอกอาจดูน่าเบื่อ แต่เป้าหมายคือการใช้ช่องทางดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แผนการ 3 เรื่องเพื่ออนาคต

ซิกเว่ บอกว่าสิ่งสำคัญที่ dtac ต้องทำเพื่ออนาคต มีด้วยกัน 3 เรื่อง

  • Data Network ที่แข็งแกร่ง แน่นอนว่าต้องการคลื่นเพิ่ม ส่วนในแง่เทคโนโลยี ตอนนี้ Telenor เริ่มทดสอบ 5G ในนอร์เวย์แล้ว และต้องใช้ระยะเวลาเรียนรู้อีกสักพักหนึ่ง
  • เข้าใจลูกค้าให้มากกว่าเดิม การเซกเมนต์กลุ่มลูกค้าแบบเดิมใช้ไม่ได้ผลแล้ว ต่อไปต้องดูความต้องการของลูกค้าเป็นรายคน ใช้เทคนิค machine learning มาช่วยเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า
  • IoT ตอนนี้ Telenor เป็นผู้เล่นในตลาด IoT รายใหญ่ของโลก กำลังทำเรื่อง smart city, smart building, digital healthcare ถ้าทำสำเร็จแล้วจะขยายมายังประเทศอื่นๆ ต่อไป

ซิกเว่มองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คล้ายกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเมื่อ 18 ปีก่อน ตอนนั้น dtac เป็นผู้นำเสนอบริการแบบพรีเพดเป็นรายแรกในไทย และประสบความสำเร็จอย่างสูง อยากทำแบบเดียวกันในรอบนี้ dtac จะกลับมาในฐานะ digital service provider

เลื่อนประมูลคลื่นไม่กระทบ แต่ต้องการความชัดเจนจาก กสทช.

ซิกเว่ พูดถึงประเด็นการประมูลคลื่น 1800MHz ที่อาจต้องเลื่อนออกไป ว่าไม่กระทบกับบริษัท เพราะต่อให้หมดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800MHz ก็ยังเข้ากระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. เหมือนกับที่ True และ AIS เคยผ่านมาก่อน การให้บริการจะไม่หยุดชะงัก แต่แน่นอนว่าถ้าประมูลได้คลื่นมาเร็วก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า

ซิกเว่ บอกว่าต้องการความชัดเจนของ กสทช. ในแง่การประมูล ทั้งเรื่องกำหนดเวลา และเงื่อนไขการประมูล โดยเฉพาะเรื่องขนาดของบล็อคความถี่ที่ใช้ประมูลว่าตกลงแล้วจะเป็นเท่าไร ตอนแรก กสทช. บอกว่าจะเป็น 5MHz แต่ภายหลังก็เปลี่ยนเป็น 15MHz อีก ในมุมของ dtac ต้องการ 5MHz เพราะยืดหยุ่นกว่าและเป็นแนวทางที่ใช้กันในสากลทั่วไป ส่วนจะเข้าประมูลเท่าไร ขึ้นกับประเด็นสำคัญคือขนาดบล็อคและงวดการจ่ายเงิน

ส่วนประเด็นเรื่องคลื่น 2300MHz ที่อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจากับ TOT ซิกเว่ระบุว่าได้คุยกับรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และหารือประเด็นนี้ว่าการได้ 2300MHz จะเป็นประโยชน์กับ dtac และ TOT ทั้งสองฝ่าย ในมุมของ dtac จะได้คลื่นมาให้บริการเพิ่ม ส่วน TOT ก็จะได้รายได้เพิ่มเข้ามาอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งนายสมคิดก็รับทราบ และรับปากจะไปคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้

กำลังหาซีอีโอใหม่ มีตัวเลือก 5-6 คน

ซิกเว่พูดถึงการลาออกของลาร์ส นอร์ลิ่ง ว่าเป้าหมายจริงๆ คือลาร์สอยากกลับบ้านที่สวีเดนแล้ว ส่วนซีอีโอคนใหม่ที่จะมาแทน กำลังดูๆ อยู่ โดยมีตัวเลือกประมาณ 5-6 คน แต่ไม่ระบุว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศ

ภาพประกอบจากสไลด์ dtac FY2017

[source: https://www.blognone.com/node/101258]

Exit mobile version