ในปัจจุบันหากใครเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และต้องการใช้เงินสดสกุลเงินต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็มักจะมีทางเลือกเช่นการแลกธนบัตรสกุลนั้นๆ หรือใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน ซึ่งก็มักจะมีปัญหาต่างๆ เช่น
- การถือเงินสดจำนวนมากๆ ไว้ใช้ในต่างประเทศ มีความเสี่ยงในการสูญหาย ถูกขโมย หลงลืม
- การหาแลกเงินสดในประเทศไทย หากแลกตามธนาคารก็มักมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูง ส่วนการแลกเงินตามร้านต่างๆ แม้อัตราจะถูก แต่ก็มีความเสี่ยงได้ธนบัตรปลอม รวมถึงอาจไม่มีเงินตามที่ต้องการในบางช่วงเวลาที่ความต้องการสูง แถมต้องเสียเวลาเดินทางไปแลกเงินอีก (แม้ว่าในสนามบินบางแห่งจะมีบูธรับแลกเงินก็ตาม)
- หากได้เงินเหรียญหรือเงินธนบัตรย่อยๆ ก็ไม่สามารถแลกคืนได้ หรือแลกคืนได้แต่ถูกกดอัตราแลกเปลี่ยน
- บัตรเครดิตก็มักมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าปกติ รวมถึงมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศที่ส่วนใหญ่คิดในอัตราถึง 2.5% รวมถึงกรณีรูดเพลิน เกินยั้งใจ จนต้องไปนั่งกลุ้มใจตอนใบเรียกเก็บส่งมา
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารกรุงไทยก็ได้เปิดตัว Krungthai Travel Card ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสำหรับนักเดินทาง รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ โดยบัตรดังกล่าวมีจุดเด่นเช่น
- สามารถแลกเงินเก็บไว้ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในตลาด ถึง 7 สกุลเงินได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ, ปอนด์สเตอร์ลิง, ยูโร, ดอลลาร์ฮ่องกง, เยน, ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์สิงคโปร์
- สามารถแลกเปลี่ยนเงิน ขายคืน ตรวจสอบยอด เปิด และปิดการใช้งานบัตรได้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai netbank
- ใช้ซื้อสินค้า / บริการ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก ผ่านเครื่องรูดบัตร และ Visa payWave
- ใช้ถอนเงินสดได้ 7 สกุลเงินที่เครื่องเอทีเอ็มทั่วโลกตามสกุลเงินที่แลกไว้
- ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน
วิธีการสมัคร
ด้านวิธีการสมัครนั้น จะต้องมีบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันกับกรุงไทยเสียก่อน และสามารถไปสมัครบัตรได้ที่ทุกสาขาของธนาคาร ซึ่งผมไม่เคยมีบัญชีกับกรุงไทยมาก่อน ก็เลยต้องเปิดบัญชีก่อนค่อยสมัครบัตร และทางธนาคารจะให้เรากำหนดรหัสบัตร 6 หลักเอง ซึ่งรหัสสามารถเปลี่ยนได้ที่ตู้เอทีเอ็มของกรุงไทยในภายหลังได้ โดยบัตรมีอายุ 2 ปี
ตัวบัตรจากการตรวจสอบ BIN พบว่าเป็น Visa Prepaid มีการปั๊มหมายเลขนูนลักษณะเหมือนบัตรเครดิต ส่วนชื่อที่ปั๊มบนบัตรเขียนว่า KRUNGTHAI TRAVEL ตัวบัตรยังมีเทคโนโลยี Visa PayWave เพื่อชำระผ่านเครื่องที่รองรับ NFC รวมถึงยังรองรับเทคโนโลยี Chip & PIN อีกด้วย
การใช้งานผ่านแอพพลิเคชัน netbank
จากรายละเอียดด้านบน การแลกเปลี่ยนเงิน ขายคืน ตรวจสอบยอด เปิดปิดการใช้บัตร สามารถดำเนินการผ่านแอพ KTB netbank (หรือชื่อใหม่ตามการรีแบรนด์อย่าง Krungthai netbank) โดยภายในแอพจะมีเมนู Travel card แยกออกมาต่างหาก
เมื่อกดเข้าไปจะพบหน้าจอแสดงสกุลเงินทั้ง 7 สกุลที่สามารถแลกได้ และมียอดคงเหลือของแต่ละสกุล เมื่อกดเข้าไปก็จะพบรายละเอียดต่างๆ ทั้งยอดเงินที่เหลือ วันทำรายการ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น รวมถึงการดูรายการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลังได้ 3 เดือนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังสามารถเปิด-ปิดการใช้งานบัตรได้ตลอดเวลา ซึ่งสามารถเปิด-ปิดได้ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
สำหรับการซื้อขายนั้น ก็สามารถทำผ่านแอพได้ทันที โดยการกดปุ่มที่อยู่ด้านล่าง โดยสามารถซื้อได้ขั้นต่ำ 1 หน่วยของสกุลเงินนั้นๆ (โดยสามารถซื้อได้ถึงหน่วยทศนิยม 2 หลัก เช่น 1.01 หรือ 9.99) โดยเลือกบัญชีกรุงไทยต้นทาง และใส่จำนวนเงินที่ต้องการ โดยสามารถแจ้งผลการแลกเงินผ่านอีเมลและใส่บันทึกช่วยจำได้
เมื่อแลกเงิน (หรือในแอพคือการโอนเงิน) ก็จะมีการเก็บรูปภาพไว้เป็นหลักฐานในเครื่อง และสามารถใช้เงินได้ทันที ส่วนการขายคืนก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เงินที่แลกไว้จะไม่ได้รับดอกเบี้ยแต่อย่างใด เนื่องจากเก็บไว้ในรูปแบบบัญชีกระแสรายวัน
การใช้งานบัตร
Travel Card สามารถใช้งานได้ใน 3 รูปแบบ คือ
- ใช้ถอนเงินที่ตู้ ATM ในต่างประเทศได้ภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ โดยเลือกกดเงินจากบัญชีกระแสรายวัน
- ใช้รูดหรือใช้จ่ายภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก
- ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก
โดยมีวงเงินกดเงินสดไม่เกิน 50,000 บาทต่อวัน และวงเงินซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตรหรือออนไลน์ไม่เกิน 500,000 บาทต่อวัน และสามารถแลกเงินเก็บไว้ได้สูงสุด 1,000,000 บาท โดยวงเงินทั้งหมดคิดจากทุกสกุลเงินรวมกันเทียบในอัตราเงินบาท
อัตราแลกเปลี่ยน
มาถึงจุดสำคัญ นั่นคืออัตราแลกเปลี่ยนว่าจะดีกว่าร้านแลกเงินทั่วไป หรือธนาคารจริงหรือเปล่า
ผมขอเทียบกับร้านแลกเงินชื่อดังย่านประตูน้ำ ที่ขึ้นชื่อว่ามีอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุด แถมขยายสาขาไปหลายแห่ง (รวมถึงใต้สนามบินสุวรรณภูมิก็มี) อย่าง Superrich Thailand ก็พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Travel Card ถือว่าสูสี และอาจดีกว่าในหลายๆ สกุล อีกทั้งยังไม่มีถูกลดอัตรากรณีเป็นธนบัตรย่อยด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนต่างอัตราซื้อขายของ Travel Card จะอยู่ในกรอบแคบๆ สูงสุดไม่เกิน 4 สตางค์ ขณะที่ร้านแลกเงินอาจมีส่วนต่างสูงถึง 25 สตางค์
การเก็งกำไร(!?)
มาถึงตรงนี้ บางคนอาจมองว่าสามารถใช้ช่องทางนี้ในซื้อขายเพื่อการเก็งกำไรค่าเงินที่สะดวก ไม่ต้องเก็บเงินสดจริงๆ และสามารถแลกคืนได้ตลอด อย่างไรก็ตามด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไม่บ่อยครั้งนัก ก็อาจไม่เหมาะกับนักเก็งกำไรเป็นชีวิตมากนัก รวมถึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ค่าธรรมเนียม
- ค่าธรรมเนียมออกบัตร 200 บาท / ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี
- ค่าธรรมเนียมถอนเงินที่เอทีเอ็มต่างประเทศ 100 บาทหรือเทียบเท่า (ไม่รวมค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างประเทศ)
- ค่าธรรมเนียมสอบถามยอดที่เอทีเอ็มต่างประเทศ 15 บาทหรือเทียบเท่า (ไม่รวมค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างประเทศ)
- ค่าธรรมเนียมการขายเงินคืนผ่านแอพ ฟรี 5 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 6 ขึ้นไป ครั้งละ 100 บาท
อย่างไรก็ตาม ได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมออกบัตร / การถอนเงิน / สอบถามยอด / ขายเงินคืน จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561
สรุป
จุดเด่น
- อัตราแลกเปลี่ยนที่เทียบเท่าหรือดีกว่าร้านแลกเงินชื่อดัง
- สามารถแลกเงินในอัตราที่สุดเก็บไว้ได้ และแลกเพิ่มได้ตลอดเวลา
- ใช้จ่ายได้ทั้งในรูปแบบบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และใช้จ่ายออนไลน์ใน 7 สกุลหลัก
- ลดความเสี่ยงในการถือเงินสดระหว่างเดินทาง และสามารถเปิด-ปิดบัตรผ่านแอพได้
- สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยหากถอนหรือใช้จ่ายเกินกว่าจำนวนเงินที่แลกไว้ รายการจะถูกปฏิเสธ
- ใช้จ่ายด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แลกไว้ ไม่มีชาร์จเพิ่ม
- มาพร้อมเทคโนโลยี Visa payWave และ Chip & PIN ลดปัญหาไม่สามารถใช้จ่ายได้ในบางประเทศที่บังคับใช้ระบบ Chip & PIN
- ตรวจสอบรายการใช้จ่ายย้อนหลังได้สูงสุด 3 เดือน
- สามารถซื้อขายได้ตั้งแต่ 1 หน่วย จนถึงเศษทศนิยม 2 หลัก
ข้อสังเกต
- ใช้จ่ายได้เพียง 7 สกุลหลักตามที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายในประเทศที่ไม่ได้ใช้ 7 สกุลเงินในบัตรได้
- ไม่สามารถใช้กดเงินสด สอบถามยอด หรือรูดซื้อสินค้าในประเทศไทย (แต่ไม่แน่ใจว่าหากเครื่องรูดบัตรรองรับการรูดหลายสกุลเงิน จะสามารถใช้ได้หรือไม่) แต่สามารถใช้จ่ายออนไลน์ใน 7 สกุลเงินได้
- มีค่าธรรมเนียมในการออกบัตร การกดเงินสดและสอบถามยอดเช่นเดียวกับบัตรเดบิต รวมถึงมีค่าธรรมเนียมในการขายคืนในครั้งที่ 6 เป็นต้นไป (ฟรีค่าธรรมเนียมถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2561)
- วงเงินการกดเงินสดต่อวันเพียง 50,000 บาท และวงเงินใช้จ่ายผ่านเครื่องรูดบัตรต่อวัน 500,000 บาท แม้ว่าจะมีเงินอยู่ในบัตรมากกว่านั้นก็ตาม
- เงินที่แลกไว้ไม่ได้รับดอกเบี้ย
- บัตรมีอายุเพียง 2 ปี
- การใช้งานแอพ KTB netbank ยังไม่ไหลลื่นนักเมื่อเทียบกับแอพธนาคารอื่นๆ
Krungthai Travel Card ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ออกเป็นธนาคารแรกของไทย และยอมรับว่าไม่คาดคิดว่ากรุงไทยจะออกผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นธนาคารแรก น่าจะเป็นธนาคารสีเขียว สีม่วง หรือสีน้ำเงินก่อนมากกว่า (แต่หากจะว่าไป กรุงไทยก็สู้ในสมรภูมิร้านรับแลกเปลี่ยนเงินใต้สนามบินเหมือนกัน ไม่เชื่อลองไปสำรวจอัตราแลกเปลี่ยนที่สาขาแอร์พอร์ตลิงก์สุวรรณภูมิได้) ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทดแทนการถือเงินสดไปใช้จ่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่รับบัตรเครดิตโดยทั่วไป ลดปัญหาเศษเหรียญที่ไม่สามารถแลกคืนได้หรือธนบัตรย่อยที่ถูกกดราคา อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีโปรโมชั่นออกบัตรฟรีด้วย
แต่หากต้องการนำบัตรไปใช้เพื่อกดเงินสดที่ประเทศปลายทาง ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก เนื่องจากยังมีค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดเช่นเดียวกับการนำบัตรเดบิตในประเทศไปกดเงินที่ต่างประเทศอยู่
ใครมีแผนเดินทางต่างประเทศ อย่างน้อยๆ ไปรับบัตรมาก่อน ก่อนตัดสินใจใช้ในการท่องเที่ยวต่างประเทศก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด