kengcom เว็บไซต์ที่รวบรวม ข่าววงการไอที และ เทคโนโลยี 2017

รีวิว Surface Book 2 ความดีงามของแล็บท็อป 2-in-1 ที่แลกมาด้วยราคา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทไอทีระดับโลกอย่างไมโครซอฟท์และกูเกิลเริ่มปรับยุทธศาสตร์ หันมาทำฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ของตัวเองกันแข็งขันมากขึ้น จากเดิมที่เราเห็นแอปเปิลเจ้าเดียวเท่านั้นที่ทำฮาร์ดแวร์

Surface Book เป็นฮาร์ดแวร์ซีรีส์ที่ 2 ในตระกูล Microsoft Surface ถัดจาก Surface และ Surface Pro ซึ่งยังคงคอนเซป 2-in-1 เอาไว้ ขณะที่รุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยและรีวิวครั้งนี้เป็น Surface Book 2 รุ่นปรับปรุงแต่ดีไซน์ภายนอกไม่มีความแตกต่างจากรุ่นแรก

alt="SB"

ดีไซน์และการใช้งานเป็นแล็บท็อป

Surface Book 2 ที่นำมารีวิวเป็นรุ่น 13.5 นิ้ว Core i5, 256 GB SSD, 8GB RAM, การ์ดจอ Intel HD Graphics 620 โดยไม่มีการ์ด NVIDIA แยก ตัวเครื่องเป็นแมกนีเซียมสีเงินทั้งส่วนจอและคีย์บอร์ด สวยงามและดูหรูหรา

ด้านล่างของตัวเครื่องไม่มีช่องระบายอากาศใดๆ ทั้งสิ้น เป็นฝาปิดไปแบบ unibody

ไมโครซอฟท์ให้พอร์ทมาสามพอร์ท เป็น USB 3.1 Type-A จำนวน 2 พอร์ท, พอร์ท SD Card และ USB-C อีกพอร์ทที่ไม่รองรับ Thunderbolt 3 และ Surface Connector สำหรับชาร์จไฟและเชื่อมต่อกับ Dock อย่างไรก็ตาม USB-C สามารถชาร์จไฟได้ด้วยหากต่อเข้ากับหัวแปลงที่จ่ายไฟเพียงพออย่างของแอปเปิล แต่หากเสียบ Surface Connector เข้ามาด้วยหน้าที่การจ่ายไฟจะไปอยู่กับ Connector แทน

ส่วนปุ่มเปิดปิดจะไม่ได้อยู่ที่คีย์บอร์ด แต่จะอยู่ด้านบนของตัวเครื่องแทน เนื่องจาก Surface Book เป็นแล็บท็อปแบบ 2-in-1 ถอดเป็นแท็บเล็ตได้ ทำให้ปุ่มล็อกหน้าจออันนี้ ใช้เปิดเครื่องเหมือนแท็บเล็ตตามปกติ ด้านข้างเป็นปุ่มปรับเสียง ขณะที่รูระบายความร้อนในส่วนของหน้าจอ/แท็บเล็ตก็อยู่บริเวณนี้ด้วย

การพิมพ์ด้วยคีย์บอร์ดของ Surface Book 2 ให้อธิบายสั้นๆ ส่วนตัวคือดีงามสำหรับแล็บท็อปเครื่องหนึ่ง ด้วยเป็นคีย์บอร์ด Full-Size ความลึกในการกดและแรงต้านเล็กๆ ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะอยู่ที่ความชอบและสัมผัสของแต่ละคน

ส่วนแทร็คแพดเป็น Precision Trackpad อย่างไรก็ตามปัญหาของแทร็คแพดบนแล็บท็อปตระกูลวินโดวส์คือค่อนข้างเล็ก ถึงแม้แทร็คแพด Surface Book 2 จะใหญ่กว่ายี่ห้ออื่นๆ แล้วก็ตามแต่ส่วนตัวก็ยังรู้สึกว่ามันใหญ่กว่านี้ได้อีก ขณะที่พื้นที่ด้านข้างยังเหลืออยู่

กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล รองรับ Windows Hello สำหรับปลดล็อคหน้าจอ ซึ่งทำได้ค่อนข้างดีและรวดเร็ว กล้องหลัง 8 ล้านพิกเซล

บานพับค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของ Surface Book ก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อพับตัวเครื่อง จะมีช่องว่างเล็กน้อย ซึ่งเป็นปัญหา (หรือาจตั้งใจ) ในการดีไซน์ที่มีมาตั้งแต่รุ่นแรก

ใช้งานเป็นแท็บเล็ตและปากกา

การถอด Surface Book 2 ออกมาใช้งานเป็นแท็บเล็ตทำได้ 2 วิธีคือกดที่ปุ่ม Detach ด้านข้างปุ่ม Backspace หรือกดที่ขวาล่างของจอข้างๆ แบตเตอรี่ จะมีเสียง กริ๊ก ดังขึ้นมาพร้อมข้อความ Ready to Detach แสดงว่าตัวล็อกหน้าจอกับฐานถูกปลดแล้ว ส่วนการเสียบกลับเข้าไปก็เสียบให้ดัง กริ๊ก เช่นกัน

เมื่อ Detach หน้าจอออกมา Windows 10 จะถามว่าจะเปิดโหมดแท็บเล็ตหรือคงเป็นโหมดวินโดวส์เอาไว้ ซึ่งเราสามารถเลือกให้จำการตั้งค่านี้เอาไว้ทุกครั้งที่ Detach หน้าจอด้วย

Surface Book 2 มาพร้อมกับปากกา Surface Pen ที่จำหน่ายแยก (รองรับ Surface Dial ที่เปิดตัวพร้อมกับ Surface Studio ด้วย แต่เหมือนจะไม่มีวางจำหน่ายในไทย)

ส่วนการใช้งานรวมๆ ค่อนข้างตอบสนองเร็วรองรับแรงกดได้ 4,096 จุด ขณะที่ด้านบนของปากกาเป็นปุ่มกด สามารถตั้งค่าคำสั่งได้ในการกดแต่ละแบบ เช่น กด 1 ครั้งเปิด OneNote กด 2 ครั้งเปิดหน้า Setting ของ Windows Ink และกดค้างเพื่อแคปหน้าจอและนำไปแปะบน OneNote เป็นต้น อย่างไรก็ตามการจะใช้คำสั่งกดปากกาได้จะต้องเชื่อมต่อบลูทูธของปากกาเข้ากับ Surface Book 2 ก่อน ขณะที่การใช้งานปากกาไม่จำเป็นต้องต่อก็ได้

นอกจากนี้ตัวปากกายังสามารถวางเอาไว้บริเวณด้านซ้ายของหน้าจอได้ด้วยแม่เหล็ก ซึ่งตรงนี้รู้สึกเป็นปัญหาเล็กๆ ในการใช้งาน คือตัวแม่เหล็กที่ดูดปากกาจะมีเฉพาะด้านซ้ายเท่านั้น ด้านขวาไม่มี และด้วยความเป็นคนถนัดขวา ทำให้เมื่อใช้งานเป็นแท็บเล็ตโดยหน้าจอยังเสียบอยู่กับคีย์บอร์ด ต้องเอื้อมมือไปหยิบหรือเก็บปากกาซึ่งรู้สึกไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ

ส่วนหน้าจอขนาด 13.5 นิ้ว ความละเอียดจะอยู่ที่ 3000 x 2000 สัดส่วน 3:2 เป็นจอ PixelSense รู้สึกคมชัดมาก สีสันสดใส ตัวหนังสือคมชัด และสามารถสู้แสงได้ ถึงแม้จะมีเงาสะท้อนจากกระจกครอบจอก็ตาม ขณะที่น้ำหนักของหน้าจอตอนถือใช้เป็นแท็บเล็ตถึงแม้จะหนักเพียงราวๆ 700 กรัม แต่ก็รู้สึกหนักเล็กน้อยและเมื่อใช้ไปนานๆ อย่างไม่ว่าจะนั่งหรือนอนก็เมื่อยเอาง่ายๆ ได้ ขณะที่การใช้งานของแบตเตอรี่อยู่ที่ราวๆ 8-9 ชั่วโมง โดยไม่เปิดโหมดประหยัดพลังงาน

สรุป

ด้วยความที่ Surface Book 2 ถูกพัฒนาและผลิตโดยไมโครซอฟท์ ทำให้มันเป็นเสมือนต้นแบบของแล็บท็อปแบบ 2-in-1 ที่มีดีไซน์และวัสดุสวยงาม ทว่าต้องแลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง

ข้อดี

  • ดีไซน์สวยงาม วัสดุแข็ง ฟีลลิ่งดี
  • แบตเตอรี่ใช้งานนาน
  • หน้าจอคมชัด สีสวยสด
  • คีย์บอร์ดดีงาม แทร็คแพดแม่นเร็ว แต่เล็กไปหน่อย (ส่วนตัว)

ข้อเสีย

  • ราคาแพง
  • Microsoft Pen ซื้อแยก
  • น้ำหนักรวมค่อนข้างหนัก (ราว 1.5 กิโลกรัม)
  • ข้อพับมีช่อง ทำให้กินพื้นที่ในการเก็บมากขึ้น

[source: https://www.blognone.com/node/101172]

Exit mobile version