kengcom เว็บไซต์ที่รวบรวม ข่าววงการไอที และ เทคโนโลยี 2017

เมื่อความสำเร็จของเฟซบุ๊ก อธิบายได้ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา

เกือบทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ที่ทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ ไปเสียแล้ว โดยเว็บไซต์ The Next Web ได้นำเอามุมมองและทฤษฎีทางจิตวิทยามาอธิบายการเสพติดของผู้ใช้นี้ ผมเห็นว่าน่าสนใจจึงเอามาแบ่งปันกันครับ

The Next Web อธิบายว่าเฟซบุ๊กได้กลายเป็น "ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์" ในลักษณะเดียวกับที่ร้านสะดวกซื้อเป็น เพียงแต่ไม่ใช่ในเชิงกายภาพ แต่เป็นความต้องการทางด้านจิตใจหรือจิตใต้สำนึกของเรา โดยความต้องการเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้

- การสร้าง"ความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem)"

ความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจสามารถสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ด้วยการใส่ระดับการศึกษา งานอดิเรก สิ่งที่เราชอบและสนใจ ฯลฯ ลงในโปรไฟล์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถรื้อสร้างและควบคุมตัวตนของเราขึ้นมาได้เพียงปลายนิ้ว ซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจลึกๆ ของเราที่ได้เปิดเผยให้โลกได้รับรู้

นอกจากนั้นหากใครเข้ามาป่วนหรือทำลายความเชื่อมั่นในตัวตนของเรา เฟซบุ๊กก็เปิดโอกาสให้เราบล็อกคนเหล่านั้นได้ง่ายๆ เช่นกัน

สิ่งนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถจัดการและควบคุมข้อมูล ที่จะมีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์และตัวตนของตัวเอง ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการควบคุมนี้เองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการสนทนาหรือปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า ที่เราอาจหลุดคำพูดหรือท่าทางออกไปโดยไม่ทันยั้งคิด และทำลายภาพลักษณ์และความประทับใจในตัวเราลงได้ง่ายๆ

สื่อออนไลน์เช่นเฟซบุ๊กได้ทำลายข้อจำกัดตรงนี้ลงไป และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้ในการไตร่ตรองและคิดข้อความในการสนทนาหรือสเตตัสก่อนที่จะกดส่ง รวมไปถึงทำลายความจำเป็นในการใช้ท่าทาง (อวจนภาษา) ในการสื่อสารลงไปด้วย

นอกจากนั้นกระบวนการสร้างความประทับใจยังอยู่ในลักษณะของรูปและข้อมูลโปรไฟล์ รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และโพสต์บ่อยๆ ขณะที่การกด like ผู้อื่นก็จัดอยู่ในการสร้างความประทับใจด้วยเช่นกัน

กล่าวคือคนที่ชอบเปิดเผยตัวตน (extrovert) มักจะแสดงออกผ่านการโพสต์สเตตัส แชร์ลิงก์ หรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์อยู่เนืองๆ โดยพื้นที่ของเฟซบุ๊กจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องกลัวว่าเมื่อแสดงออกผ่านช่องทางข้างต้นไปแล้ว จะถูกมองว่าหลงตัวเอง (narcissistic) ลองนึกภาพในงานเลี้ยงดู หากมีคนๆ หนึ่งเดินเข้ามาแล้วเอารูปตัวเองมาอวดให้คนอื่นดู คงจะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ แน่ๆ

เหล่านี้เองที่ได้ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นกิจวัตร เพราะเฟซบุ๊กได้สร้างความพึงพอใจในจิตใต้สำนึกโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ในแง่หนึ่งการแสดงออกและเปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กอาจมีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นมองเรา แต่ในอีกแง่ มันก็มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ที่เรามองตัวเองด้วยเช่นกัน

แล้วคุณล่ะ ติดเฟซบุ๊กขนาดไหน?

ที่มา - The Next Web

Facebook, Psychology, Social Media

[source: https://www.blognone.com/node/61273]

Exit mobile version