ข่าวไอที Blognone » คุยกับ Emmanuel Pillai หัวหน้าฝ่ายเทรนนิ่งของ AWS ภูมิภาคอาเซียน กับทิศทางการเพิ่มทักษะคลาวด์ให้แรงงานในไทย

คุยกับ Emmanuel Pillai หัวหน้าฝ่ายเทรนนิ่งของ AWS ภูมิภาคอาเซียน กับทิศทางการเพิ่มทักษะคลาวด์ให้แรงงานในไทย

16 ธันวาคม 2022
15   0

ในงาน AWS re:Invent 2022 นอกจากเราจะได้พูดคุยกับคุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ เรื่องการเปิดรีเจี้ยนของ AWS ในประเทศไทยแล้ว เรายังได้พูดคุยกับ Emmanuel Pillai หัวหน้าฝ่ายเทรนนิ่งและการสอบรับรองของ AWS ประจำภูมิภาคอาเซียน (Head of AWS Training and Certification for ASEAN) เกี่ยวกับทิศทางการเพิ่มทักษะด้านคลาวด์ให้แรงงานในประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมกับการใช้คลาวด์ที่จะเพิ่มมากขึ้นในประเทศ ตอบรับการเข้ามาเปิดรีเจี้ยนในประเทศไทยของ AWS

Emmanuel อยู่ในตำแหน่งนี้มานาน 3 ปีแล้ว โดยประจำอยู่ที่สิงคโปร์ เขาดูแลด้านการเทรนนิ่งโดยโฟกัสกับชาติอาเซียนโดยเฉพาะ ซึ่งเขาระบุว่าจากการศึกษาเมื่อปี 2021 พบว่ามีแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากถึง 86 ล้านคนต้องถูก reskill หรือก็คือการเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อเปลี่ยนสายงาน เฉพาะในสิงคโปร์ก็มีถึง 6 แสนคนที่ต้อง reskill เพื่อตามให้ทันนวัตกรรมใหม่ๆ โดย AWS ก็ทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ให้กับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กอายุ 12-14 ปี, นักศึกษา ไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่อยู่ในสายงานไอทีอยู่แล้วแต่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานด้านคลาวด์ และผู้ที่อยู่ในสายงานอื่นเลย เช่นการเงิน แต่สนใจเปลี่ยนมาทำงานสายไอที (แม้แต่ตัว Emmanuel เองก็เรียนจบมาทางด้านเคมี แต่ก็ย้ายมาทำงานใน AWS ได้) โดยล่าสุด AWS ได้อบรมแรงงานไปแล้วกว่า 7 แสนคนเฉพาะในอาเซียน

alt="JWCM1R.jpg"Emmanuel Pillai - Head of AWS Training and Certification for ASEAN

เขาระบุว่า AWS จะลงทุนในประเทศไทย 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.75 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะทำงานร่วมกับภาครัฐ, ภาคเอกชน ไปจนถึงสถาบันการศึกษา โดยเขายกตัวอย่างการร่วมมือระหว่าง AWS กับกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่ง AWS ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าจะอบรมเจ้าหน้าที่รัฐราว 1,200 คนเพื่อให้รัฐบาลไทยเริ่มใช้คลาวด์ได้เร็วขึ้น และเขายังยกตัวอย่างว่าในอินโดนีเซียที่ AWS เปิดรีเจี้ยนไปเมื่อปี 2019 ก็ได้อบรมแรงงานชาวอินโดนีเซียไปแล้วกว่า 3 แสนคน ซึ่ง AWS ก็เล็งจะทำอย่างเดียวกันกับประเทศไทย แต่ยังไม่มีการประกาศเป้าหมายออกมาว่าจะอบรมเป็นจำนวนเท่าไร

นอกจากนี้ยังมีโครงการ AWS Academy ที่มีบทเรียนฟรีเปิดให้อาจารย์และครูเข้ามาดึงเนื้อหาไปใช้ในหลักสูตรได้เลย โดยในประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาจำนวน 15 แห่ง เช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหิดล, เกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมโครงการ AWS Academy แล้ว (รายชื่อสถาบันการศึกษาทั้งหมด)

alt="JWu7kZ.png"

AWS ยังมีเนื้อหาบทเรียนสำหรับเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง โดยขณะนี้มีวิดีโอกว่า 30 เรื่องที่เป็นภาษาไทย และ AWS เล็งจะเพิ่มเนื้อหาภาษาไทยให้มากขึ้นในอนาคต ซึ่ง Emmanuel ยกตัวอย่างว่า AWS มีวิดีโอบทเรียนกว่า 500 เรื่องที่เป็นภาษาเกาหลีและจีน

เมื่อถูกถามว่า AWS ตั้งเป้าจะเพิ่มทักษะด้านไหนเป็นพิเศษบ้าง Emmanuel ก็ตอบว่าจากการศึกษาโดย AlphaBeta เห็นว่าทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดสูงสุด 5 อย่าง เกี่ยวข้องกับคลาวด์ไปแล้ว 3 อย่าง คือทักษะในการใช้เครื่องมืออย่าง CRM และ Spreadsheet อีกอย่างคือทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และอย่างสุดท้ายคือทักษะการไมเกรตจาก on-premise ไปคลาวด์ ซึ่ง AWS ก็ตั้งเป้าจะเพิ่มทักษะในด้านเหล่านี้ รวมถึงหัวข้อที่ลงลึกไปอีก เช่น AI/ML และการวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ AWS ก็ยังเตรียมการสอบรับรอง (Certification) ไว้ด้วยเพื่อเป็นการวัดผลที่เป็นรูปธรรม รวมถึง AWS ยังมีเนื้อหาสำหรับผู้ทำงานแต่ละสาย เช่น Solution Architect ก็จะมีหลักสูตรที่เหมาะสมไว้ให้ อีกทั้ง AWS ก็ยังมี Cloud Quest ที่เป็นเกมให้ผู้เล่นเข้ามาทำเควสเรียนตามเส้นทางที่สนใจ และในงาน re:Invent ปีนี้ได้เปิดตัว Industry Quest เพิ่มมา โดยเป็นหลักสูตรสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมแรกที่เปิดตัวคือด้านบริการทางการเงิน (FSI – Financial Service Industry)

Emmanuel ระบุว่าในอาเซียนยังมีช่องว่างทางทักษะด้านดิจิทัลอยู่อีกมาก โดยผู้ที่ทำงานสายเทคโนโลยี 85% เคยเข้าร่วมการอบรมในสายงานตนเองในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา แต่แรงงานฝั่งที่ไม่ได้อยู่สายเทคโนโลยีกลับเคยเข้าร่วมอบรมเพียง 45% เท่านั้น แต่หากคนกลุ่มนี้ได้รับการอบรม 90% จะบอกว่ามีโอกาสได้งานมากขึ้น ซึ่ง AWS ก็ต้องการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างด้านทักษะเหล่านี้

นอกจากนี้ AWS ยังดำเนินโครงการ re/Start ในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ โดยนำผู้ว่างงานหรือผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลาจากนอกสายงานเทคโนโลยีเข้ามารับการอบรมทักษะคลาวด์เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พร้อมช่วยหาผู้จ้างงานด้วย ผลคือแรงงานเหล่านี้ได้งานใหม่ถึง 90% เลยทีเดียว

AWS ยังมีแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์อีกตัวที่ได้รับความนิยมสูงคือ Skill Builder โดยมีคอร์สฟรีให้เรียนกว่า 500 หลักสูตร แต่หากต้องการทำแล็บ, เข้าคอร์สเตรียมสอบใบรับรอง, เล่นเกม AWS Industry Quest ที่เพิ่งเปิดตัว และอื่นๆ ต้องสมัครสมาชิกเดือนละ 29 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,000 บาท) หรือปีละ 299 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,500 บาท)

alt="JWuVne.png"

Emmanuel กล่าวว่าปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับการอบรมเพิ่มทักษะในภูมิภาคอาเซียนคืออินเทอร์เน็ตที่อาจจะไม่ทั่วถึงนักในพื้นที่ห่างไกล ซึ่ง AWS ก็ทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาอินเทอร์เน็ตด้วย ส่วนความท้าทายอีกอย่างคือการที่นายจ้างต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง แต่กลับไม่ค่อยลงทุนเพิ่มทักษะให้แรงงานมากเท่าที่ควร AWS จึงอยากเรียกร้องให้ทั้งนายจ้างและภาครัฐทำงานร่วมกันเพื่อลงทุนเสริมสร้างทักษะให้แรงงาน อีกทั้งยังมีความท้าทายในแรงงานที่รู้ว่าตนเองยังขาดทักษะ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ซึ่ง AWS ก็มีหลักสูตรที่ทำมาเป็น role-based หรือก็คือหลักสูตรสำหรับแต่ละสายงานวางเป็นขั้นให้ว่าสายงานนี้ควรเรียนอะไรบ้าง

Emmanuel กล่าวปิดท้ายว่าสำหรับประเทศไทยที่ AWS กำลังจะเปิดรีเจี้ยนและตั้งเป้าลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการเพิ่มทักษะต่างๆ ที่มีในประเทศอื่นจะเข้ามายังประเทศไทยแน่นอน

[source: https://www.blognone.com/node/131906]