thumbsup » จัดการชีวิตอย่างไร เมื่ออยู่ออฟฟิศแล้วโดนบูลลี่

จัดการชีวิตอย่างไร เมื่ออยู่ออฟฟิศแล้วโดนบูลลี่

27 พฤศจิกายน 2020
9   0

ในชีวิตคนเราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มักจะเจอทั้งคนรู้จักและไม่รู้จัก บูลลี่ผ่านการกระทำหรือสายตากันบ่อยๆ ใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเรื่องของรูปร่างหน้าตา เพศสภาพ การแต่งตัวหรือไลฟ์สไตล์ ส่วนหนึ่งเพราะมนุษย์เรามักจะยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป จนลืมมองเรื่องของคุณค่าทางจิตใจของคนอื่น รวมถึงแสดงความคิดเห็นเสมือนว่าเราเป็นไม้บรรทัดที่สามารถจะใช้จัดการใครก็ได้

การบูลลี่สามารถแบ่งประเภทออกเป็น 4 ประเภท คือ

  • การใช้กำลัง หรือการทำร้ายร่างกาย เช่น การตบ ตี ชกต่อย การข่มขู่ ทำลายข้าวของให้เสียหาย
  • การใช้คำพูด เป็นการพูดทำร้ายความรู้สึก เช่น การพูดจาข่มขู่ วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน เยาะเย้ย เป็นต้น
  • การบูลลี่ทางสังคม ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ เช่น กดดันให้ออกจากกลุ่ม กีดกันไม่ให้ใครเข้าใกล้ หรือไม่ให้อยู่ในกลุ่มเพื่อน
  • การบูลลี่ทางโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) เป็นการกลั่นแกล้งในวงกว้างที่รุนแรงมากกว่าในรั้วโรงเรียน หรือในกลุ่มเพื่อน

 

บูลลี่ในที่ทำงานอะไรบ้างที่เรามักเจอ

หากเป็นบนโลกโซเชียลมีเดีย เรามักจะเห็นคอมเม้นท์ที่ไม่น่ารักมากมายบนเฟสบุ๊ก อินสตาแกรมหรือยูทูปของคนดังในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ว่าจะคนดังหรือคนธรรมดาด้วยกันเองก็มักจะโดนแซวด้วยคำว่า ใส่เสื้อลายทางไม่ดูความอ้วนของตัวเองเลย ใส่เสื้อสีสดให้ควายเห็นเหรอ ไปจนถึงหน้าตาไม่ดียังมั่นหน้าอีกนะหล่อน เป็นต้น

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเจอแค่บนโลกออนไลน์นะคะ ในชีวิตจริงกับคนที่เรายกมือไหว้สวัสดีทุกวัน หรือคนที่นั่งกินข้าวข้างกันทุกวันก็ยังมีการแซวเชิงเหยียดจนไม่มองหน้ากันก็มีให้เห็นมากมาย ส่วนพนักงานออฟฟิศที่เราไม่รู้จักแต่อยู่ในตำแหน่งที่เห็นแล้วไม่ชอบใจยังมีการแอบกัด แอบนินทากัน ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ฟังไม่ได้จริงๆ

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมที่หลากหลายที่กลั่นแกล้งกันในสังคมจนส่งผลให้พนักงานไม่อยากไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ตำหนิทีมงานด้วยคำพูดไม่ดี ล้อเลียน ตำหนิรุนแรงต่อหน้าคนอื่น พูดเรื่องไม่จริงให้คนเสียหาย กดดันทีมงานสั่งงานยากจนทำให้ทำงานต่อยาก นำเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมาเปิดเผยเพื่อสร้างความอับอาย

อีกเรื่องที่มักเจอแต่คนไม่ตระหนักถึงปัญหาคือ การคุกคามทางเพศ ลวนลามด้วยคำพูด ไปจนถึงข่มเหง ทำร้ายร่างกายจากการควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือการเมืองในที่ทำงาน เล่นพรรคเล่นพวกใครอยู่ข้างฉันคือรอด ถือว่าเป็นรูปแบบการบูลลี่ในชีวิตการทำงานที่ไม่เป็นมิตรกับสภาพจิตใจเสียเลย

ดังนั้น วันนี้เราจึงมีวิธีเยียวยาจิตใจสำหรับคนที่เจอปัญหาบูลลี่ในชีวิตประจำวันมาฝากค่ะ

 

นิ่ง-เมิน ช่วยหยุดเสียงได้

เรื่องของการนินทาทั้งต่อหน้าและลับหลังนั้น เป็นเรื่องที่เรามักจะเจอในสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ดูเออีคนนั้นสิ ทำไมต้องแต่งหน้าเข้มทาปากแดงขนาดนั้น จะไปขายงานหรือขายอะไรกันแน่” “สงสารเลขาหน้าห้องผู้จัดการจังเลยต้องพาหมาของบอสไปเดินสวนทุกวัน” หรือแม้แต่ “ดูบอสสิวันนี้หน้าซีดเชียวสงสัยเมื่อคืนจะ…หนักไปหน่อย”

แต่ละคำพูดแบบนี้ใครฟังก็ต้องรู้สึก “อิหยังวะ” กันบ้างใช่ไหมคะ แบบไปก้าวก่ายเรื่องส่วนบุคคลอะไรขนาดนั้น ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกัน แต่คนพูดคนเม้าท์คงรู้สึกสะใจปนสมน้ำหน้าคนที่ตัวเองนินทา หากคนเหล่านี้โดนคำพูดเหล่านี้ย้อนกลับมาที่ตัวเองบ้าง ก็คงไม่สนุกเช่นกัน

สำหรับผู้ถูกกระทำนั้น อยากให้ทำใจค่ะ ให้คิดในแง่ดีว่าชั้นสวย ชั้นเลิศ ชั้นเจ๋ง ถึงมีคนอยากนินทา จากนั้นจะเลือกยิ้มให้คนที่นินทาเรารู้ไปเลยว่าชั้นได้ยิน หรือจะเหล่มองแล้วเชิ่ดใส่ไปเลยก็ได้นะคะ แต่ถ้าไม่อยากต่อกลอนกับคนแบบนี้ ก็เดินเฉยไปเลย อย่าไปใส่ใจหรือเก็บมาคิดมากเลยค่ะ เพราะเสียงนกเสียงกาแบบนี้ ไม่ได้จบภายในวันเดียวแน่นอน

ระบายกับเพื่อนที่ไว้ใจได้

บางครั้งการเล่าให้ใครสักคนที่ไว้ใจได้ว่าจะไม่นำไปพูดต่อก็ช่วยให้เป็นการปล่อยทิ้งความเครียดได้ ที่สำคัญคืออยากคิดมากว่าเราเป็นตัวปัญหาให้คนอยากนินทานะคะ เราเป็นผู้ถูกกระทำไม่ใช่ตัวต้นเหตุของปัญหา แต่คนที่นินทาคนอื่นไปทั่วแบบไม่ระวังปากต่างหากที่เป็นตัวปัญหา

นอกจากเพื่อนสนิทแล้ว พ่อแม่พี่น้องก็เป็นกำลังใจที่ดีเป็นอีกหนึ่งพลังงานที่ช่วยฮีลจิตใจของเราได้นะคะ บางครั้งบุคคลที่สามที่ไว้ใจได้ก็จะมีแง่มุมหรือมุมมองที่น่าสนใจให้เรานำกลับไปใช้เยียวยาอารมณ์ที่แย่ให้ดีขึ้นได้

ออกไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ

ถ้าเรายังจมอยู่กับความคิดว่าทำไมเขาถึงนินทาเรา ทำไมใครๆ ถึงบูลลี่เรา ไม่สู้ออกไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ หรือมองสิ่งอื่นที่ดีกว่าบ้างละคะ ถ้ายังคงจมอยู่กับปัญหาหรือเสียงนินทาก็ไม่มีวันที่เราจะหลุดพ้นจากความรู้สึกแย่ๆ

ลองวางแผนลาพักร้อนออกไปเที่ยวพบเจอผู้คนใหม่ๆ หรือเดินออกจากออฟฟิศไปนั่งชิลล์ตามสวนสาธารณะ ร้านกาแฟหรือสถานที่ที่มีบรรยากาศผ่อนคลายก็ช่วยลดความเครียดกับเสียงนกเสียงกาได้นะคะ

กังวลมากปรึกษาจิตแพทย์

หากความเครียดจากการถูกบูลลี่มากๆ หมักหมมอยู่ในใจจนสลัดไม่ออก ก็ลองปรึกษาจิตแพทย์ดูค่ะ ถึงอย่างไรการไปหาจิตแพทย์ยุคนี้ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นโรคจิตเภทหรือเป็นคนบ้าที่ต้องไปอยู่ศรีธัญญาอะไรแบบนั้นนะคะ

แต่การไปหาจิตแพทย์คือการหาผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้ในการให้คำปรึกษา ช่วยหาทางออกที่เหมาะสม รวมไปถึงช่วยปรึกษาเรื่องสุขภาพที่ส่งผลกับร่างกายและจิตใจในแง่มุมต่างๆ ดังนั้นการไปพบแพทย์ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนะคะ อย่างน้อยเราจะได้คำแนะนำที่ดีกว่า เช่น ไปออกกำลังกาย ฝึกกิจกรรมใหม่ๆ หรือแม้แต่ให้ยาบำรุงสุขภาพ เป็นต้น

บูลลี่ไม่หยุดให้เรื่องจบที่ศาล

หากคนที่เขาพูดจาบูลลี่คุณบ่อยๆ หรือเป็นประจำจนเรียกได้ว่ากลายเป็นการกลั่นแกล้งทางร่างกายและจิตใจ คุณสามารถเก็บหลักฐานทั้งภาพ เสียง หรือคลิปบางส่วนไปใช้ในการแจ้งความเพื่อตักเตือนได้นะคะ ถ้าเป็นคำพูดในอินเทอร์เน็ตก็คงจะเป็น ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าศาลก็อย่าเม้นท์แรง

หรือหากคนที่บูลลี่คุณในชีวิตประจำวัน เขาแอบถ่ายคลิป หรือสร้างข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายเช่นกัน อันนี้ก็สามารถดำเนินคดีอาญาได้เช่นกันนะคะ

สำหรับคนที่กำลังอยู่ในสถานการณ์เป็นผู้ถูกกระทำก็อยากจะบีบมือให้กำลังใจและเข้มแข็งมากๆ นะคะ เพราะชีวิตคนเราไม่สามารถเลี่ยงปัญหาการถูกนินทาได้เลยไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่หรือสังคมแบบไหน และไม่มีใครที่จะสามารถทำให้จิตใจของเราย่ำแย่ได้ ถ้าเราเข้มแข็งมากพอ ส่วนคนที่อยู่ในสถานะผู้กระทำก็อยากให้ยับยั้งชั่งใจและคิดก่อนพูดทุกครั้งนะคะ เพราะสิ่งที่คุณกระทำอาจสร้างปมในจิตใจของคนอื่นได้ และหากอยู่ในสถานะที่กลับข้างกันคุณจะยอมรับกับการถูกบูลลี่ได้แค่ไหนอยากให้คิดถึงใจเขาใจเราให้มากค่ะ

The post จัดการชีวิตอย่างไร เมื่ออยู่ออฟฟิศแล้วโดนบูลลี่ appeared first on Thumbsup.

[source: https://www.thumbsup.in.th/working-bully?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=working-bully]