ข่าวไอที DailyGizmo » ดีลอยท์ เผยรายงานแนวโน้ม “ดิจิทัลไลฟ์” ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดีลอยท์ เผยรายงานแนวโน้ม “ดิจิทัลไลฟ์” ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

27 ตุลาคม 2020
5   0

ดีลอยท์ เผยรายงานแนวโน้ม “ดิจิทัลไลฟ์” ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการประชุม INCLUSION Fintech จัดโดยแอนท์ กรุ๊ป 

ดีลอยท์ (Deloitte) เปิดเผยรายงาน “คลื่นลูกใหม่” แนวโน้มดิจิทัลไลฟ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ <“The Next Wave” Emerging Digital Life in South and Southeast Asia > ระหว่างการประชุม INCLUSION Fintech Conference ซึ่งจัดโดยแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) และอาลีเพย์ (Alipay) มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการหารือร่วมกันในระดับโลกในการสร้างโลกแห่งอนาคตที่มีความเท่าเทียมกัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนมากยิ่งขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล

จากการสำรวจความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากกลุ่มคนที่อายุต่างกันใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคอายุ 21 ถึง 40 ปีเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการปรับใช้รูปแบบการใช้ชีวิตดิจิทัลไลฟ์อย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

เทย์เลอร์ แลม หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมของดีลอยท์ ไชน่า เป็นวิทยากรในการสัมมนาวันที่ 2 ในหัวข้อ INCLUSION กล่าวว่า “เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาและขยายตัวในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่จะเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต  ภูมิภาคดังกล่าวมีประชากรจำนวนมากโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ (Unbanked) และกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้บ้าง (Underbanked) ทั้งยังมีการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลาย และรัฐบาลของแต่ละประเทศก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ภูมิภาคดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งช่วยเร่งการปรับใช้บริการชำระเงินดิจิทัล รวมไปถึงการขยายตัวของรูปแบบการใช้ชีวิตดิจิทัลไลฟ์ในภูมิภาคนี้”

“จากผลการศึกษาของเรา พบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเหล่านี้มีศักยภาพที่สูงมากในการพัฒนา และการให้บริการอย่างทั่วถึง รวมถึงความสะดวก ปลอดภัย และยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19”

ผลการศึกษาที่สำคัญสำหรับภูมิภาคนี้:

  1. บริการชำระเงินดิจิทัล หรือดิจิทัลเพย์เมนต์ (Digital Payment) เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างและเชื่อมดิจิทัลไลฟ์ให้กับผู้บริโภค โดยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานต่อรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน และความบันเทิง

ภาพรวมบริการชำระเงินดิจิทัลในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

  • นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ราว 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองได้พบเห็นการใช้บริการดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น โดย 41% ชี้ว่ามียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
    • บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็น 3 ประเทศที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นสูงสุด
  • สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเป็น 3 ประเทศที่มีการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลอย่างคึกคักมากที่สุด
  • 3 สถานการณ์ในชีวิตประจำวันที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการชำระเงินดิจิทัลมากที่สุด ได้แก่:
    • อี-คอมเมิร์ซ/เอ็ม-คอมเมิร์ซ (70%)
    • การโอนเงินระหว่างบุคคล (69%)
    • การซื้อสินค้าในร้าน (62%)
  • ธุรกรรมดิจิทัลเพย์เมนต์ส่วนใหญ่มีมูลค่าไม่มากนัก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 67% ระบุว่ามูลค่าเฉลี่ยต่อธุรกรรมน้อยกว่า 30 ดอลลาร์ต่อคน (หรือน้อยกว่า 900 บาท) ซึ่งนั่นหมายความว่าบริการชำระเงินดิจิทัลได้แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และกลายเป็นบริการกระแสหลักที่ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละวันของผู้บริโภค
  • เหตุผลหลัก 3 ข้อที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการอี-วอลเล็ต (E-wallet) คือ:
    • ความสะดวก (77%)
    • ไร้การสัมผัส (69%)
    • สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมและโปรโมชั่นพิเศษ (9%)
  1. ผู้บริโภคในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้บริการดิจิทัลในสถานการณ์ที่หลากหลายในชีวิตประจำวัน

 สถานการณ์หลักที่มีการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • 5 โมบายล์แอพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ ได้แก่:
    • ความบันเทิง
      • โซเชียลมีเดีย (79%)
      • การสตรีมเพลง/วิดีโอ (50%)
    • อี-คอมเมิร์ซ/เอ็ม-คอมเมิร์ซ (74%)
      • ความสะดวก ผลิตภัณฑ์หลากหลาย และราคาถูก คือเหตุผลหลัก 3 ข้อที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์
    • บริการในชีวิตประจำวัน (59%)
      • เรียกรถโดยสาร อ่านข่าว/หนังสือ และการทำงานร่วมกันในที่ทำงาน คือ 3 โมบายล์แอพที่ใช้งานบ่อยที่สุดในหมวดหมู่นี้
    • บริการด้านการเงิน (45%)
      • โมบายล์แบงค์กิ้ง และดิจิทัลเพย์เมนต์ เป็นโมบายล์แอพที่ได้รับการใช้งานมากที่สุดในหมวดหมู่นี้
  1. ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอนาคตทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่สดใส โดยเป็นผลมาจากการปรับใช้บริการชำระเงินดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นและความหลากหลายของสถานการณ์ดิจิทัลไลฟ์ในชีวิตประจำวัน

ผู้นำด้านดิจิทัลไลฟ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ดัชนีดิจิทัลไลฟ์ (Digital Life Index) ระดับภูมิภาคได้พัฒนาโดยอ้างอิงข้อมูลการศึกษาและชุดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น ความนิยมในการใช้มือถือ ความแพร่หลายและการใช้อินเทอร์เน็ต การชำระเงินดิจิทัล การพัฒนาของอี-คอมเมิร์ซ การมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดีย และการสนับสนุนจากภาครัฐ

  • สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียคือ “ผู้นำด้านดิจิทัลไลฟ์” (Digital Life Leader) โดยอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในทุกค่าพารามิเตอร์
  • ประเทศไทย และฟิลิปปินส์มีความโดดเด่นในฐานะ Digital Life Follower”
    • ความนิยมในการใช้มือถือของประเทศไทยจัดอยู่ในระดับที่สูง รวมถึงการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดีย การพัฒนาของบริการชำระเงินดิจิทัล และอี-คอมเมิร์ซ
    • ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำในเรื่องของการปรับใช้บริการชำระเงินดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงินระหว่างบุคคล และอุตสาหกรรมเกม
  • อินเดียจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี “ศักยภาพด้านดิจิทัลไลฟ์” (Digital Life Potential) โดยเป็นผู้นำในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้
  • บังคลาเทศและปากีสถานจัดว่าอยู่ในกลุ่ม “ผู้ตามหลังด้านดิจิทัลไลฟ์” (Digital Life Catcher)

 

ผลการศึกษาที่สำคัญของประเทศไทย

จากปัจจัยชี้วัดความเป็นดิจิทัลไลฟ์ทั้ง 7 ข้อ ได้แก่ อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศ, ความเร็วอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ, การเติบโตของดิจิทัลเพย์เมนต์, การเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์, กิจกรรมโซเชียลมีเดีย และการสนับสนุนเชิงนโยบาย ประเทศไทยถูกจัดไว้ในฐานะ Digital Life Follower”

อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้ถูกคาดการณ์ว่าจะก้าวสู่ “Digital Life Leader” ในอีกไม่ช้า เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สูง ทำให้อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือก็สูงไปด้วย ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย, อีคอมเมิร์ซ, การชำระเงินแบบออฟไลน์ หรือเล่นเกมส์ออนไลน์ต่างๆ คนไทยต่างเปิดรับและมีความกระตือรือร้นต่อเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงความไว้วางใจที่มีต่อโซเชียลมีเดียทำให้เกิดโมเดลการช้อปปิ้งในรูปแบบ “โซเชียลมีเดีย + อีคอมเมิร์ซ” ที่แตกต่างออกไปจากเดิม

o   ประเทศไทยมีผู้ใช้งานดิจิทัลเพย์เมนต์ประมาณ 30 ล้านราย ในปี 2020 โดยมูลค่าการทำธุรกรรมประมาณ 8,363 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 261,500 ล้านบาทไทย

o   สถานการณ์สองอันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์

    • โอนเงินระหว่างบุคคล (80%)
    • ชำระเงินในร้านค้า (77%)

  1. ดิจิทัลเพย์เมนต์:

o    ร้านค้าคอนวีเนียนสโตร์ถือเป็นปลายทางของเศรษฐกิจดิจิทัล ในประเทศไทย 7-11 คือเชนสโตร์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรีเทลที่มีหน้าร้านเกือบ 10,000 สาขา ซึ่งคิดเป็น 95% ของสัดส่วนทั้งหมด โดยสามารถพบเจอได้ทั่วไปตามท้องถนนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

  • ทรูมันนี่ หนึ่งในผู้ให้บริการการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ โดยผู้ใช้งานสามารถเติมเงินในทรูมันนี่วอลเล็ตโดยตรงด้วยการซื้อบัตรเติมเงินหรือบัตรที่มีมูลค่าเป็นวงเงินต่างๆ ได้ตามร้านสะดวกซื้อ

o   การชำระเงินผ่าน QR Code กลายเป็นหนึ่งในวิธีการชำระเงินยอดนิยมในประเทศไทย 75% ของลูกค้าทั้งหมดใช้งานผ่าน QR Code จากผลการศึกษาของ UnionPay และเนลสัน

o   การชำระเงินแบบไร้การสัมผัส กลายเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงการแพร่ระบาดของโรค และใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมีการบริจาคแบบไร้การสัมผัส คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 18 ล้านบาท) ในช่วงการแพร่ระบาด

  1. อีคอมเมิร์ซ:ผู้ใช้งานในกลุ่มตลาดอาเซียนมีแนวโน้มที่จะใช้ “โมบายคอมเมิร์ซ” มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ

o   ปี 2020 ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ในด้านอีคอมเมิร์ซผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ (75.3%) ประเทศอินโดนิเซีย (64%) ประเทศอินเดีย(80%)

  1. โซเชียลมีเดีย:สำหรับอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2020 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน “สามประเทศแรก” ที่มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียแอคทีฟมากที่สุด ในภาพรวมพบว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียประจำวันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2019 และยังรักษาระดับการเติบโตไว้เป็นอย่างดี ในประเทศไทย ผู้คนมักใช้เวลาท่องโลกโซเชียล 2 ชั่วโมง 55 นาที ตามหลังประเทศประเทศอินโดนิเซีย ที่มีสถิติการใช้งานอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 26 นาที และ 3 ชั่วโมง 53 นาที ในประเทศฟิลิปปินส์

ในประเทศไทย 51% ของนักช้อปออนไลน์นิยมช้อปปิ้งผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่ 92% ของผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซใช้โซเชียลมีเดียในการชม และเปรียบเทียบสินค้าก่อนตัดสินใจชำระเงิน

[source: https://www.dailygizmo.tv/2020/10/27/deloitte-the-next-wave/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=deloitte-the-next-wave]