thumbsup » ถอดรหัส เลือกทำไมระหว่าง “งานที่ใช่” กับ “เงินที่ชอบ”

ถอดรหัส เลือกทำไมระหว่าง “งานที่ใช่” กับ “เงินที่ชอบ”

29 ธันวาคม 2019
7   0

“อยากทำสิ่งที่รักแต่ได้เงินไม่พอใช้ ควรทำอยู่ไหมครับ”

นี่เป็นคำถามที่น้องๆ ถามผมมากที่สุด ทั้งตอนที่ทำงานในบริษัทและตอนขยับขยายมาทำงานสอน

ช่วงแรกผมมักตอบพวกเขาไปว่า “ทำสิ่งที่รักแล้วเดี๋ยวเงินจะตามมาเอง” แต่มาคิดดูก็รู้สึกว่าเป็นคำตอบที่โลกสวยและดูเหมือนไม่รับผิดชอบไปหน่อย ลองคิดดูว่าถ้าน้องอยากเป็นนักดนตรีแล้วผมแนะนำว่าให้ทำตามฝันดูสิ แน่นอนว่ามีนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จดังเป็นพลุแตกและได้เงินจากการสิ่งที่ตัวเองรักมหาศาล แต่นักดนตรีเหล่านั้นมีเพียงหยิบมือเทียบไม่ได้กับเด็กๆ ที่ต้องผิดหวังหลายพันหลายหมื่น แล้วอะไรจะการันตีว่าน้องที่เราแนะนำจะกลายเป็นหนึ่งในหยิบมือนั้นได้จริงๆ

ครั้นจะแนะนำว่า “เอาเงินเป็นตัวตั้งดีกว่า” ก็แย้งกับตัวเองชอบกลเพราะเราเองก็ไม่เคยเลือกเงินเป็นแก่นสารหลักเวลาทำงานเหมือนกัน แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งต้องมานั่งกร่นด่าตัวเองว่าทำไมเลือกงานได้เงินน้อยขนาดนี้ (วะ)

แต่จะว่าไป “สูตร” การเลือกงานทั้งสองสูตรนี้มาจากไหนกัน เกิดขึ้นอย่างไร และใครได้ประโยชน์จากสูตรเหล่านี้ วันนี้เราอยากชวนคุณมาสำรวจกันสักหน่อยครับ

ความหมายของการทำงาน

ถ้าอยากเข้าใจ “สูตร” การเลือกงานทั้งสองแบบอย่างถ่องแท้ เราคงต้องย้อนกลับไปยังรากเหง้าคือการนิยามความหมายของการทำงาน เพราะเอาเข้าจริงการทำงานสำหรับมนุษย์นั้นมีความหมายที่ลื่นไหลมาโดยตลอด

เมื่อครั้งโบราณการทำงานไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่ากิจกรรมเพื่อความอยู่รอด มนุษย์ออกล่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ปลูกผักปลูกพืชไว้เลี้ยงชีพ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มนุษย์จึงต้องแบ่งงานกันทำเพื่อให้คนแต่ล่ะคนสามารถขัดเกลาฝีมือจนสามารถใช้ทรัพยากรต่ำสุดแต่ได้ผลผลิตสูงสุด และด้วยระบบการเผยแพร่ความรู้ในอดีตที่ยังไม่มีประสิทธิภาพและเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ ตระกูลแต่ล่ะตระกูลต่างยึดครองความรู้บางอย่างไว้เป็นเอกสิทธิ์ เช่น ตระกูลช่างไม้ ตระกูลช่างเหล็ก เมื่อทายาทของแต่ล่ะตระกูลเกิดมาก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสืบทอดอาชีพและสารพัดความรู้ของบรรพบุรุษไปโดยปริยาย

มิตินี้เราจะเห็นว่าการทำงานสำหรับผู้คนในอดีตเป็นภาคบังคับ หรือคือคอนเซปต์ของ “การทำงานเพื่อเงิน” นั้นแหละ ซึ่งเงินในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงความร่ำรวยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความมั่นคง ความปลอดภัย ความแน่นอน แถม “เงิน” ยังละเลยไปบ่งชี้ถึงชนชั้นทางสังคมของมนุษย์ พูดอย่างง่ายที่สุดคือการทำงานเพื่อเงินนั้นไม่ได้มองว่า “งาน” ที่เราทำนั้นมีคุณค่าในตัวมันเอง หากแต่ “เงิน” ซึ่งได้จากการทำงานต่างหากที่มีค่าเพราะสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็น “ความสุข” ต่างๆ ในชีวิตต่อไปได้ และยิ่งคุณมี “เงิน” มากก็แสดงว่าชีวิตมีฐานะดีมากเท่านั้น

หากเรามองในมุมมองของรัฐผู้มีอำนาจจะเห็นได้ว่าคอนเซปต์ “ทำงานเพื่อเงิน” นั้นเอื้อให้เกิดการควบคุมและบริหารประชากรอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง เพราะประชากรแต่ล่ะกลุ่ม (ซึ่งต่อมาก่อรูปก่อร่างเป็นสถาบันต่างๆ) ล้วนแล้วแต่ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเองประดุจแขนขา โดยไม่ลุกขึ้นมาย้ายงานย้ายถิ่นกันวุ่นวาย ไม่ต่อสู้ต่อรองเพื่อขยับฐานะทางสังคม ทุกคนล้วนแล้วแต่ทำตามหน้าที่ของตัวเองเพื่อแลกกับ “เงิน” เพื่อไปซื้อ “ความสุข” ต่อไป

แต่โลกนี้ไม่ได้ง่ายอย่างนั้นเพราะเมื่อการปฎิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมให้กำเนิดงานใหม่ๆ มากมายเพื่อตอบสนองระบบทุนนิยม และเมื่อในโลกนี้ไม่เคยมีใครถนัดซ่อมเครื่องจักร ถนัดสร้างโรงงาน ระบบทุนนิยมจึงต้องสร้างสรรค์ระบบการศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนและเสริมสร้างทักษะต่างๆ ให้แก่พลเมืองจนสามารถเข้ามาเป็นฟันเฟืองการผลิตของระบบได้

ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนทางความหมายของ “การทำงาน” น่าจะอยู่ตรงนี้เพราะเมื่อระบบการศึกษาและอุตสาหกรรมพามนุษย์ไปพบเจอกับอาชีพใหม่ๆ มากมายมหาศาล มนุษย์จึงเพิ่งถึงบางอ้อว่าเรา “มีทางเลือก” ที่ไม่ต้องเป็นนายพราน เป็นพ่อครัว ตามรอยครอบครัวเท่านั้น แต่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อขัดเกลาตัวเองไปสู่อาชีพในฝันต่างๆ ยุคที่อุตสาหกรรมและการศึกษาถือกำเนิดขึ้นจึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์ “เลือกงานในฝัน” มากกว่าต้อง “เลือกเงิน” เท่านั้น

แต่ที่น่าสนใจคือแม้เราจะมีโอกาสเลือกงานในฝันแล้ว แต่กลับมีเพียงกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกเพราะพวกเขามีโอกาส มีเส้นสาย และมีทักษะเพียงพอ ชนชั้นล่างที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาและโอกาสสมัครงานดีๆ ก็ยังคงต้องทำงานเพื่อเงินกันต่อไป ดังนั้นความคิดเรื่องการ “เลือกงานในฝัน” จึงแพร่หลายในกลุ่มชนชั้นกลางเพราะนอกจากจะเข้ากับชนชั้นกลางที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางอาชีพจากครอบครัวมากแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกตัวเองออกจากชนชั้นล่างและพยายามถีบตัวเองให้ทัดเทียมชนชั้นสูงอีกด้วย

และเมื่อมองจากมุมมองรัฐ การเลือก “งานในฝัน” นั้นช่างวุ่นวายเพราะ “งานในฝัน” ต้องอาศัยทักษะใหม่ๆ ที่ประชาชนไม่เคยมีมาก่อนจึงต้องพึ่งพาระบบการศึกษาอย่างหนักหน่วง หรืออีกทีก็ต้องเสียเวลาปล่อยให้แรงงานสะสมทักษะด้วยตัวเอง นอกจากนั้นรัฐยังไม่มีความสามารถในการเข้าใจงานแปลกใหม่เหล่านั้นส่งผลให้คิดระบบเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และงานใหม่ๆ ก็ไม่มั่นคงและเสี่ยงมีโอกาสล้มเหลวได้เยอะ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่รัฐจะไม่สนับสนุนให้ประชากรเลือก “งานในฝัน” แต่เน้นสนับสนุน “งานที่สร้างความมั่งคั่ง” ให้แก่ประเทศมากที่สุด

บทสรุปของการเลือกงานที่ใช่หรือเงินที่ชอบ

แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วคุณจะเลือกแบบไหนก็คงไม่มีใครว่าแต่ขอให้รู้ไว้ว่าทุกทางเลือกมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ขึ้นกับว่าคุณชอบที่จะจ่ายแบบไหนและเอ็นจอยผลลัพธ์แบบไหน

เพราะจะเลือกงานหรือเลือกเงิน สิ่งสำคัญคือคุณรู้ตัวว่ามีทางเลือก…

The post ถอดรหัส เลือกทำไมระหว่าง “งานที่ใช่” กับ “เงินที่ชอบ” appeared first on Thumbsup.

[source: https://www.thumbsup.in.th/like-work-like-money]