ข่าวไอที Blognone » รีวิวเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ASUS ROG G751JT โน้ตบุ๊กเทพสำหรับคอเกม

รีวิวเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ASUS ROG G751JT โน้ตบุ๊กเทพสำหรับคอเกม

10 มีนาคม 2016
8   0

ผมมีโอกาสได้รับเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก G Series ของ ASUS มารีวิวนะครับ โน้ตบุ๊กตัวนี้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ภายใต้แบรนด์ ROG หรือ Republic of Gamers ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าสำหรับเกมเมอร์โดยเฉพาะ มีตั้งแต่เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง การ์ดจอ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์พีซี

โน้ตบุ๊กรุ่นที่ผมได้รับมารีวิวในครั้งนี้ได้แก่ ASUS G751JT จะมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร มาอ่านกันได้เลยครับ

front-1

เริ่มที่สเปคอย่างย่อของเครื่องทดสอบก่อนนะครับ

ASUS G751JT

  • CPU : Intel Core i7 4710HQ 2.5GHz (Up to 3.5 GHz)
  • RAM : 16 GB (2x8GB) DDR3 PC3-12800
  • Storage: 256 GB SanDisk SSD + 1TB HGST 7200rpm 2.5" HDD
  • GPU: NVIDIA GeForce GTX 970M – 1280 Shaders / 3GB RAM
  • Display: 17" Full HD 1920x1080
  • Network: Intel Dual Band Wireless-AC / Bluetooth + Realtek Gigabit Ethernet
  • Others: 4xUSB 3.0, 3x Audio I/O, DisplayPort (Thunderbolt) + VGA + HDMI, SD Card reader, Blu-ray Drive

รูปลักษณ์ภายนอก

topview

ได้จับเครื่องครั้งแรก ขอบอกว่า หนักมาก น้ำหนักของตัวเครื่องเอง ประมาณ 4.2 กิโลกรัม รวมกับอะแดปเตอร์อีก 9 ขีดกว่า ทำให้มีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 5.2 กิโลกรัม เมื่อเอามาเทียบขนาดกับ Macbook Pro 13" จะเห็นว่าเครื่องใหญ่ และหนากว่ามาก (ความหนาอยู่ที่ 3.5-5.5 ซม.)

compare_mbp_top

compare_mbp_side

ส่วนตัวอะแดปเตอร์เป็นอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กที่จ่ายไฟได้มากกว่าโน้ตบุ๊กปกติ โดยจ่ายได้ประมาณ 200 กว่าวัตต์ (เทียบกับ 85 วัตต์ของ Macbook Pro Retina) ส่วนขนาด ก็ใหญ่กว่าไอโฟน 6s Plus เล็กน้อย (ไม่นับความหนาที่หนากว่ามาก)

adapter_iphone adapter_spec

ฝาหลังของเครื่องมีโลโก้ Republic of Gamers ที่จะเรืองแสงสีแดงเมื่อเปิดเครื่อง ด้านล่างของเครื่องมีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่ (ขณะเล่นเกม จะมีลมร้อนมากเป่าออกมา ไม่ควรวางอะไรขวางทางลมเลยครับ)

back

ด้านซ้าย เป็นสล็อตสำหรับเสียบ SD Card, ไดรฟ์ Blu-ray (อ่านอย่างเดียว แต่เขียนแผ่นดีวีดีได้ด้วย), USB 3.0 สองพอร์ต และรูล็อกเครื่อง

side_left

ด้ายขวา มีรูหูฟัง, ไมค์ และ Lineout, ตามด้วย USB 3.0 อีกสองพอร์ต, DisplayPort (Thunderbolt), HDMI, Gigabit LAN, VGA และ DC IN

side_right

จะเห็นว่าโน้ตบุ๊กเครื่องนี้มีข้อดีตรงที่มีพอร์ตเยอะมาก ครบถ้วนแทบทุกแบบเลยทีเดียว

เปิดเครื่องออกมา จะเจอตัวคีย์บอร์ดมีไฟเรืองแสงสีแดง พร้อมกับมีปุ่มตัวเลขให้ด้วย ที่ดูแปลกไปก็น่าจะเป็นปุ่มลูกศรที่ขยับลงมาจากตำแหน่งปกติหน่อย อาจทำให้ไม่ค่อยคุ้นไปบ้าง

front-view

keyboard-all

ตรงปุ่ม WASD มีเน้นสีให้พิเศษ และมีตุ่มนูนตรงตัว W ให้รู้ตำแหน่งเมื่อสัมผัส

key-left

นอกจากปุ่มปกติแล้ว ก็มีปุ่มพิเศษได้แก่

  • ปุ่ม ROG สำหรับกดเข้าไปซอฟต์แวร์สำหรับปรับแต่งโปรไฟล์เครื่อง (แทนที่ตำแหน่งปุ่ม Numlock)
  • ปุ่ม RECORD สำหรับบันทึกวีดิโอ เมื่อเข้าเกมที่รองรับการบันทึกจะมีไฟขึ้นที่ปุ่มนี้
  • ปุ่ม Steam กดเพื่อเข้าโปรแกรม Steam Big Picture
  • ปุ่มมาโคร 3 ปุ่ม m1 – m3 สามารถบันทึกและปรับแต่งได้จากซอฟต์แวร์ในเครื่อง

ด้านล่างมีทัชแพดขนาดใหญ่ วัดขนาดได้ 6.5x12 เซนติเมตร เป็นมัลติทัช สามารถปรับแต่งการใช้งานได้บางส่วนด้วยซอฟต์แวร์ในเครื่อง ตัวปุ่มของทัชแพดจะมีลักษณะที่สามารถกดลงไปได้ลึก ทำให้กดได้มันกว่าโน้ตบุ๊กเครื่องอื่น

status-led

ถัดจากทัชแพด จะเป็นไฟสถานะ มี 5 ดวง ได้แก่ ไฟเปิดเครื่อง, แบตเตอรี่, ฮาร์ดดิสก์, โหมดเครื่องบิน, ปุ่ม Numlock โดยสองสถานะแรกนั้น จะมีไฟทั้งด้านหน้าและด้านบน ส่วนอีกสามสถานะจะมีไฟด้านหน้าอย่างเดียว เข้าใจว่าออกแบบมาให้เวลาใช้งานจะสามารถเห็นไฟแบตเตอรี่ได้ชัดเจนเมื่อมันกำลังจะหมด แต่ถ้าอยากรู้ว่าใช้ Numlock อยู่หรือไม่ ก็ก้มดูเอาเองแล้วกัน

นอกจากนี้ยังมีความงงเล็กน้อยกับสถานะโหมดเครื่องบิน คือ ถ้าเปิดโหมดเครื่องบินไฟจะดับ แต่ถ้าปิดโหมดนี้อยู่ (คือใช้ระบบไร้สายได้) ไฟจะติด

ถัดไป มาเปิดเครื่องเพื่อดูประสิทธิภาพกันดีกว่าครับ

CPU

คะแนนจาก CPU-Z ได้คะแนนไป 1500/5586

cpu-z cpu-z-bench

SSD และ Harddisk

ตัว SSD ทำความเร็วอ่านสูงสุดอยู่ที่ 460 MB/s ส่วนเขียน อยู่ที่ราว 430MB/s ส่วน Harddisk ทั้งอ่านและเขียน อยู่ที่ประมาณ 110 MB/s ทั้งคู่ ด้วยความเร็วของ SSD ทำให้โน้ตบุ๊กเครื่องนี้บูตวินโดวส์ขึ้นมาโดยใช้เวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น

hdd-d2 hdd-f

รายละเอียด GPU จาก GPU-Z

gpu-z

คะแนนด้านกราฟิกจาก 3DMark

Cloud Gate - ตัวนี้เป็นการทดสอบคอมพิวเตอร์พื้นฐานทั่วไป รายละเอียด

CLOUD GATE

Sky Diver - ตัวนี้เป็นการทดสอบเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก และพีซีระดับกลางๆ รายละเอียด

SKY DIVER

Fire Strike - ตัวนี้ทดสอบเกมมิ่งพีซีระดับสูงครับ รายละเอียด

FIRE STRIKE

แบตเตอรี่

ในเมื่อเป็นโน้ตบุ๊ก ก็อาจมีโอกาสให้เรา "แบก" ไปนั่งเล่มเกมนอกสถานที่ตามร้านกาแฟชิคๆ บ้าง ผมเลยทดสอบอัตราการบริโภคพลังงาน เพื่อดูว่าเราจะมีเวลาชิลได้นานแค่ไหน

เริ่มจากสถานการณ์ นั่งเล่นเฟซบุ๊ก ดูยูทูบ แบตเตอรี่ขนาด 84 Wh สามารถให้เราเล่นได้ประมาณ 3 ชั่วโมง (อัตราบริโภคพลังงานอยู่ที่ 26-32 วัตต์)

battmon-2 batt-disrate

หลังจากนั้นลองเล่นเกม อัตราการใช้พลังงานกระโดดไปอยู่ที่ประมาณ 61 วัตต์ หากชาร์จไฟเต็มที่จะอยู่ได้ประมาณชั่วโมงครึ่งเท่านั้น (แบตลดประมาณ 1% ต่อ 1 นาที) ถ้าเล่นเกม MOBA ที่เฉลี่ยเกมละประมาณ 45 นาที ก็อาจมีเสียวๆ ว่าแบตจะพอจบเกมที่สองไหม

battmon-game-1.5hrs batt-disrate-ingame

อื่นๆ

  • การต่อจอภายนอก น่าเสียดายที่อุปกรณ์ไม่พร้อม เลยไม่ได้ลองต่อจอออกทุกพอร์ตว่าสามารถแสดงผลแยกพร้อมกันได้กี่จอ (ผมลองต่อ HDMI ออกได้ปกติ แต่พอใช้ DisplayPort-HDMI adapter เสียบเพื่อจะต่ออีกจอนึง ก็เกิดอาการเครื่องค้าง คาดว่าอาจจะเป็นเพราะตัว adapter)
  • การ์ดเครือข่ายไร้สาย โน้ตบุ๊คเครื่องนี้ใช้ Dual Band AC ซึ่งที่ทดลองใช้ สามารถต่อกับ Access Point ได้ความเร็วที่ 780 Mbps (ตามสเปคได้สูงสุด 867 Mbps) ก็ถือว่าหมดห่วงเรื่องเล่นเกมผ่าน Wi-Fi ไม่ต้องต่อสายให้เกะกะ

การทดสอบจากเกม

เมื่อพูดถึงคะแนน Benchmark อาจยังนึกไม่ออกว่าโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ แรงพอจะเล่นเกมอะไรได้บ้าง จึงขอเอาเกมช่วงปี 2014 มาลองทดสอบกันนะครับ

Call of Duty: Advanced Warfare - ปรับออฟชั่นสูงสุด ทำเฟรมเรทไปได้ระหว่าง 75-85 fps และมีบางฉากที่สูงขึ้นไปเฉียดร้อย

cod-2

Fallout 4 - ฉากทั่วไปเฟรมเรทจะอยู่ที่ 25-30 fps หากเป็นฉากในพื้นที่ปิด (มุมมองแคบ หรือมีวัตถุน้อย) จะขึ้นไปสูงระดับ 60 fps

fo-1

Dying Light - ฉากส่วนใหญ่ทำเฟรมเรทไปได้ที่ 30 fps ถึงแม้จะมีบางฉากที่ตกไปเหลือ 25 fps แต่ก็ไม่มีปัญหาในการเล่นแต่อย่างใด

dl-1

Far Cry 4 - สามารถทำเฟรมเรทไปได้ถึง 50 fps

fc4-2

Rise of the Tomb Raider - เมื่อปรับออฟชั่นทุกอย่างสูงสุด และปรับ Ambient Occlusion เป็น HBAO+ จะมีเฟรมเรทแค่ 18 fps แต่ถ้าตั้ง Ambient Occlusion เป็น ON เฉยๆ ก็จะเฟรมเรทเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 fps ส่วนใครอยากลองเล่นเกมแบบสามมิติ ในโหมด 3D Side-by-Side ก็สามารถทำเฟรมเรทได้ประมาณ 25 fps

tr-3

Assassin's Creed Unity - เมื่อปรับกราฟิกในระดับ Ultra High จะทำเฟรมเรทได้เพียง 20 fps แต่ถ้าปรับ Very High จะทำได้ 30 fps และ High จะทำได้เพิ่มขึ้นไปเป็นประมาณ 40 fps

acu-2

Watch_Dogs - ปรับกราฟิกระดับ Ultra สามารถทำเฟรมเรทไปได้ 40-50 fps

wd-1

Need for Speed - เกมใหม่ล่าสุดตัวนี้ มี recommended spec ที่การ์ดจอ GTX 970 ซึ่งโน้ตบุ๊กเครื่องนี้สามารถเล่นได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าปรับ Ultra สุดทุกอันจะได้เฟรมเรทที่ไม่สูงมากนัก (35-40 fps) และมีดรอปในบางฉาก ซึ่งถ้าปรับ Shadow เหลือ High ก็จะขยับขึ้นไปได้ประมาณ 50-60 fps

nfs-1

อย่าลืมว่าที่ทดสอบนี้ ปรับกราฟิกเกือบสูงสุดทุกเกมนะครับ เพราะฉะนั้น หากต้องการเฟรมเรทที่สูงขึ้น ก็อาจปรับลดบางอย่างลงมา ซึ่งในบางเกมก็แทบไม่เห็นความแตกต่างของภาพเท่าไหร่ครับ

ข้อดี

  • พลังประมวลผลที่สูง ด้วย Core i7 และ GTX 970m สามารถเล่นเกมปี 2015 แบบปรับสุดได้แทบทุกเกม
  • พกพา เคลื่อนย้ายสะดวก (เมื่อเทียบกับเดสท็อป) สามารถแบกไปเล่นบ้านเพื่อนเป็นกลุ่มได้สบายๆ
  • จอภาพ Full HD ขนาดใหญ่ 17 นิ้ว
  • คีย์บอร์ดขนาดเต็ม พร้อมปุ่มตัวเลข และปุ่มมาโคร
  • ทัชแพดขนาดใหญ่ หากจำเป็น ก็พอจะสามารถใช้เล่นเกมได้
  • การเชื่อมต่อที่ครบถ้วน ทั้ง USB จำนวน 4 พอร์ต, พอร์ตจอทั้ง 3 แบบ และพอร์ตเสียงทั้งเข้าและออก รวมถึง Wireless dual-band ac และ Bluetooth
  • มี Optical Drive ที่อ่าน Blu-ray ได้

ข้อเสีย

  • ขนาดใหญ่ และหนัก ถึงแม้ว่าจะพกพาได้ แต่โน้ตบุ๊กเครื่องนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสะพายใส่เป้เดินไปเดินมาได้ทุกวัน
  • แบตเตอรี่ที่อายุสั้น ประสิทธิภาพที่สูงแลกกับการใช้พลังงานที่มากขึ้น ซึ่งทำให้โน้ตบุ๊กตัวนี้มีอายุการใช้งานเพียง 3 ชั่วโมง และถ้าเล่มเกมจะเหลืออายุไม่ถึง 2 ชั่วโมง
  • ดีไซน์ที่ยังดูขาดๆ ในบางส่วน เช่น ปุ่มมาโครอยู่ในตำแหน่งที่กดลำบากไปหน่อย (บนสุด ใกล้กับปุ่ม ESC และปุ่ม Steam ซึ่งทำให้กดพลาดง่าย), ปุ่มลูกศรที่อยู่ในตำแหน่งไม่เหมือนคีย์บอร์ดอื่น เป็นต้น

สรุป

ASUS G751JT เป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่มีประสิทธิภาพพอตัว สามารถเอามาใช้เป็น desktop replacement ได้ โดยมีข้อดีของโน้ตบุ๊กคือ ขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายสะดวก เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ท็อป ตัวฮาร์ดแวร์ของเครื่องออกแบบมาได้เหมาะกับการเป็นเครื่องเล่นเกม มีจอภาพขนาดใหญ่ และพลังประมวลผลที่สูง

อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่สูงกว่าโน้ตบุ๊กขนาดกลางอย่างมาก คอเกมที่ไม่ใช่สายฮาร์ดคอร์อาจจะมองว่าไม่คุ้ม และคอเกมฮาร์ดคอร์ที่ไม่จำเป็นต้องพกเครื่องย้ายไปมาก็อาจจะคิดว่าซื้อเดสก์ท็อปคุ้มค่ากว่า

ASUS, Notebook, Review

[source: https://www.blognone.com/node/78960]