ข่าวไอที Blognone » หลายบริษัทเลิกใช้หุ่นยนต์ส่งของและเสิร์ฟอาหาร ตั้งคำถามคุ้มกับต้นทุนไหม

หลายบริษัทเลิกใช้หุ่นยนต์ส่งของและเสิร์ฟอาหาร ตั้งคำถามคุ้มกับต้นทุนไหม

7 พฤศจิกายน 2022
10   0

การนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคส่วนบริการและร้านอาหารเป็นวิธีที่ภาคบริการมองว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและให้บริการได้เร็วขึ้น รวมทั้งช่วยให้พนักงานสามารถบริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่เพราะมีหุ่นยนต์ช่วยทำงานอื่น ๆ เช่น เสิร์ฟอาหาร เก็บโต๊ะ นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับร้านนั้น ๆ ว่าเป็นร้านที่ทันสมัยแะลเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้

ข้อมูลจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติเผยว่าหุ่นยนต์สำหรับส่วนการบริการขายได้ราว 121,000 เครื่องเมื่อปีที่แล้ว ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ชื่อว่า White Castle ที่ใช้หุ่นยนต์ Flippy 2 ส่งอาหารในร้านค้ากว่า 350 สาขาและวางแผนจะใช้เพิ่มอีก 100 แห่ง

อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทได้นำหุ่นยนต์มาใช้แต่ก็เลิกใช้ไปในภายหลัง เพราะมองว่าหุ่นยนต์ทำงานได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป รวมทั้งทำงานช้าและมีข้อจำกัดในการทำงาน เช่น Amazon ที่ยกเลิกหุ่นยนต์ Scout ที่ใช้ส่งของถึงบ้าน เพราะไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือบริษัท FedEx ที่ยกเลิกการใช้หุ่นยนต์ส่งของที่ใช้ชื่อว่า Roxo

ธุรกิจหลายแห่งที่เปลี่ยนจากการลงทุนกับหุ่นยนต์ไปลงทุนทางด้านอื่น ๆ แทน เช่น McDonald ที่ลงทุนกับระบบจดจำเสียงอัตโนมัติที่สามารถรับออเดอร์ลูกค้าผ่านทาง Drive Thru หรือร้านอาหาร Chili’s Grill & Bar ที่เลิกใช้หุ่นยนต์ Rita และเปลี่ยนไปลงทุนกับการซื้อเครื่องครัวที่ช่วยทุ่นเวลาทำอาหารและทำให้ทำความสะอาดโต๊ะได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการทำให้หน้าเว็บไซต์ของร้านใช้งานง่ายมากขึ้น

No Descriptionภาพหุ่นยนต์ส่งอาหารจาก sun robot

Matt Beane ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวว่าการที่บริษัทต่าง ๆ เลิกใช้หุ่นยนต์แสดงว่าร้านค้าต่าง ๆ ประสบปัญหาในการหาสมดุลระหว่างต้นทุนของหุ่นยนต์กับการใช้ประโยชน์จริง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ลูกค้ายังไม่ค่อยคุ้นชินกับหุ่นยนต์และต้องการพนักงานบริการมากกว่า ผลประเมินความพึงพอใจของลูกค้าของร้าน Chili’s Grill & Bar เผยว่าเกือบลูกค้าเกือบ 60% กล่าวว่าหุ่นยนต์ Rita ไม่ได้ช่วยให้ประสบการณ์ในการทานอาหารที่ร้านดีขึ้น ทั้งยังมีคอมเมนต์ในเพจร้านค้าใน Facebook ที่บอกให้เลิกเอาหุ่นยนต์มาทำงานแทนคน

ส่วนข้อจำกัดอื่น ๆ ก็อย่างเช่น หุ่นยนต์กีดขวางทางสำหรับผู้ที่นั่งเก้าอี้รถเข็นสำหรับคนป่วยหรือผู้พิการ อย่างกรณีเมืองโตรอนโตของแคนาดาที่แบนการใช้หุ่นยนต์เดลิเวอรี่จนกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการของเมืองเพื่อศึกษาผลกระทบของหุ่นยนต์ หรือเช่นกรณีที่หุ่นยนต์ของร้านอาหาร Rachel’s Kitchen ไม่สามารถเสิร์ฟอาหารให้โต๊ะส่วนด้านนอกตัวร้านได้เพราะแสงแดดรบกวนการทำงานของระบบระบุตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือหุ่นยนต์มีผลกับภาพลักษณ์ของร้าน เจ้าของร้าน Conan’s Pizza ในรัฐเท็กซัสเผยว่า หุ่นยนต์ส่งพิซซ่าของร้านส่งพิซซ่าได้ช้ากว่าคนส่งที่เป็นมนุษย์และมีปัญหาเรื่องการเดินทาง แต่ร้านยังคงใช้หุ่นยนต์อยู่เพราะช่วยเรื่องการโฆษณา ทำให้มีคนพูดถึงร้านมากขึ้น

ที่มา: Wall Street Journal

[source: https://www.blognone.com/node/131368]