ข่าวไอที Blognone » เตรียมขุดสมบัติ! ญี่ปุ่นกำลังจะขุดเอาแร่หายากจากใต้ทะเลขึ้นมาใช้ได้แล้ว

เตรียมขุดสมบัติ! ญี่ปุ่นกำลังจะขุดเอาแร่หายากจากใต้ทะเลขึ้นมาใช้ได้แล้ว

31 ตุลาคม 2022
10   0

เมื่อ 4 ปีก่อนมีการนำเสนอข่าวการพบแหล่งแร่หายากในชั้นโคลนใต้ทะเลลึกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่ที่สามารถขุดมาใช้ได้หลายร้อยปีก็ไม่หมด ตอนนี้ทางการญี่ปุ่นก็ตระเตรียมที่เริ่มขุดเจาะเอาแร่ที่ว่าขึ้นมาใช้แล้ว

แหล่งแร่ที่ว่านี้อยู่ในชั้นโคลนใต้ทะเลบริเวณใกล้กับเกาะ Minamitori ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ห่างออกไปจากโตเกียวราว 1,900 กิโลเมตร โดยประเมินว่าจะมีแร่ REO รวมกันประมาณ 16 ล้านตัน ซึ่ง REO (Rare Earth Oxide) ที่ว่านี้หมายถึงแร่ออกไซด์ของธาตุหายากอันเป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคอุตสาหกรรมนานาชนิดรวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไอที

No Descriptionเกาะ Minamitori ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 1,900 กิโลเมตร (ที่มาภาพ: Wikimedia, CC0

ธาตุหายากที่ว่านี้ คือธาตุ 17 ชนิดที่พบได้ยากในธรรมชาติ อันได้แก่ สแกนเดียม, อิตเทรียม, แลนทานัม, ซีเรียม, เพรซีโอดิเมียม, นีโอดิเมียม, โพรมีเทียม, ซาแมเรียม, ยูโรเพียม, แกโดลิเนียม, เทอร์เบียม, ดิสโพรเซียม, โฮลเมียม, เออร์เบียม, ทูเลียม, อิตเตอร์เบียม และลูทีเชียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ใช้ทำสารเรืองแสง, ใช้ในการผลิตแม่เหล็ก, ใช้ในการสร้างเลเซอร์, ใช้เพื่อผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น

ด้วยความที่นำไปใช้ประโยชน์ได้มากหลากหลายด้าน แต่กลับขุดเจาะนำเอาแร่เหล่านี้มาใช้งานได้ยากนัก ทำให้แร่เหล่านี้มีมูลค่าสูง ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้จีนซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งแร่สำคัญที่มีอยู่เดิมมีอำนาจในการต่อรองทางการค้ากับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งยังมีอิทธิพลต่อกลไกราคาสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท

ข้อมูลจาก USGS (United States Geological Survey) หน่วยงานสำรวจข้อมูลธรณีศาสตร์ของสหรัฐอเมริการะบุว่าในปี 2021 ประเทศจีนมีปริมาณแร่ที่ขุดมามากถึง 168,000 ตัน กุมส่วนแบ่งตลาดแร่หายากของโลกไว้สูงถึง 60.6%

ที่มา: USGS - Mineral Commodity Summaries 2022 (Rare Earths)

ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณแร่หายากสำรองของโลกจากรายงานของ USGS ฉบับเดียวกัน ระบุข้อมูลปริมาณแร่หายากที่มีสำรองในปี 2021 โดยจีนนำหน้ามาเป็นอันดับหนึ่งด้วยปริมาณแร่ 44 ล้านตัน ในขณะที่เวียดนาม, บราซิล และรัสเซียตามมาที่ 22, 21 และ 21 ล้านตัน ตามลำดับ หากญี่ปุ่นสามารถนำเอาแร่ 16 ล้านตันของตัวเองจากใต้ทะเลขึ้นมาใช้งานได้จริง จะทำให้ปริมาณสำรองแร่หายากของญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของโลกได้ในทันที

ที่มา: USGS - Mineral Commodity Summaries 2022 (Rare Earths)

ด้วยเหตุนี้เมื่อญี่ปุ่นเจอแหล่งแร่ในเขตแดนของตนเองจึงกลายเป็นโอกาสอันดีและมีความพยายามผลักดันให้มีการขุดเจาะนำเอาแร่เหล่านั้นขึ้นมาใช้ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งอันที่จริงทางการญี่ปุ่นนั้นพบแหล่งแร่แห่งนี้มานาน 10 ปีแล้ว แต่สาเหตุสำคัญที่ยังไม่ได้ขุดเอาแร่พวกนี้มาใช้เป็นเพราะข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เพราะการจะดึงเอาแร่มีค่าที่ฝังตัวอยูในชั้นโคลนใต้ทะเลลึกกว่า 6 กิโลเมตรย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าตอนนี้ทางการญี่ปุ่นคิดว่าพวกเขาอยู่ในจุดที่พร้อมจะเดินหน้าแล้ว

เมื่อปีที่แล้วได้มีการทดสอบเทคโนโลยีการขุดเจาะนำแร่จากใต้ทะเลขึ้นมาใช้งานโดยการใช้เรือสูบเอาสิ่งที่อยู่ใต้ผิวดินที่ลึกลงไปจากระดับน้ำทะเลขึ้นมา โครงการทดสอบดังกล่าวเป็นแผนงานส่วนหนึ่งของการวิจัยและค้นคว้าของ Japan Agency for Marine-Earth Science and Technology (JAMSTEC) หน่วยงานวิจัยและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นที่เน้นศึกษาด้านธรณีศาสตร์และสมุทรศาสตร์โดยเฉพาะ

JAMSTEC ใช้เรือเจาะสำรวจที่ชื่อ Chikyu ซึ่งสามารถเจาะชั้นติดในทะเลลึกเพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อดินหรือหินขึ้นมาเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้ ทั้งยังสามารถติดตั้งระบบสูบโคลนจากจากใต้ทะเลขึ้นมาได้เช่นกัน และการปฏิบัติงานเมื่อปีกลายเรือ Chikyu ได้สูบโคลนจากระดับความลึก 2,470 เมตรผ่านท่อที่ต่อเป็นแนวดึงขึ้นมาสู่ผิวน้ำได้ในอัตราวันละ 70 ตัน ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีเครื่องจักรที่สามารถสูบเอาโคลนจากใต้ทะเลลึกขึ้นมาได้ในปริมาณมากเช่นนี้

No Descriptionเรือเจาะสำรวจทางวิทยาศาสตร์ Chikyu ของ JAMSTEC (ที่มาภาพ: JAMSTEC)

No Descriptionภาพแสดงการทำงานของเรือ Chikyu ในการสูบโคลนจากชั้นดินใต้ทะเลลึก (ที่มาภาพ: JAMSTEC)

ผลจากความสำเร็จในการทดสอบการสูบโคลนจากใต้ทะเลลึกของเรือ Chikyu นี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจัดสรรงบประมาณในปีหน้าเพื่อขยายผลนำเอาเทคโนโลยีที่ว่านี้มาใช้งานในการขุดเจาะเพื่อนำเอาแร่หายากใต้ทะเลบริเวณเกาะ Minamitori ขึ้นมา โดยการใช้ท่อยาว 6,000 เมตรต่อจากชั้นโคลนใต้ทะเลขึ้นมายังผิวน้ำ ทั้งนี้เป้าหมายในการขุดเจาะนั้นต้องการสูบโคลนขึ้นมาให้ได้วันละ 350 ตัน

และในอนาคตทางการญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะเตรียมการให้พร้อมที่จะเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจสามารถเข้ามารับสัมปทานดำเนินการขุดเจาะแร่ได้ภายในปี 2028

ที่มา - The Japan News

Topics: 

[source: https://www.blognone.com/node/131258]