thumbsup » “ไม่ชอบแต่ก็ร้องได้” เทคนิคทำ Music Marketing สู่ Viral Content

“ไม่ชอบแต่ก็ร้องได้” เทคนิคทำ Music Marketing สู่ Viral Content

15 กรกฎาคม 2019
5   0

“ชิปกับเดลมีสองพี่น้องขายของในคลอง” คุ้นหูกันใช่มั้ยคะกับท่อนเพลงสุด Viral จากดิสนีย์ ที่ถ้าใครร้องท่อนนี้ขึ้นมาล่ะก็ จะต้องเผลอพูดอีกหลายๆ ครั้งต่อวันแน่นอน ท่อนเพลงที่ติดหูนี้ก็เหมือนกับการฝังความหลอนให้กับกลุ่มเป้าหมาย ถึงแม้จะไม่ชอบแต่ก็ร้องได้ 

หรือจะเป็นเพลงแร็ปล่าสุด Gucci Belt จาก Dimond MQT กับเพลงแร็ปท่อนฮิตที่ติดปากกันอยู่ช่วงใหญ่กับท่อนเริ่มต้นว่า ” Gucci Belt งูมันเลื้อยขึ้นมาอยู่ที่เอว ” ซึ่งถ้าถามความหมายหลายคนก็คงงงๆ กัน แต่ถามว่าร้องท่อนนี้ได้มั้ยก็ร้องได้  

เมื่อ Music Marketing เติบโตในยุคนี้ และโดดเด่นมากๆ ในปี 2019 งั้นเรามาวิเคราะห์กลยุทธ์อะไรที่ถูกซ่อนในเพลง และสามารถหลอนประสาทจนจำได้ขนาดนี้กันค่ะ

 

ใส่ Key Message รัวๆ 

จริงๆ แล้ว การที่เราจะซื้อสินค้าอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นเสมอไปว่าเราต้องรักแบรนด์นั้น แค่รู้จัก นึกถึง และเมื่อถึงจุดตัดสินใจ ต่อให้ไม่รักแต่จำคุณประโยชน์ได้ ก็สามารถกดสั่งซื้อได้ ขณะเดียวกันการทำเพลงให้กับแบรนด์ถือว่ามีราคาที่สูงมากๆ บางแบรนด์จึงเลือกที่จะให้เพลงมีแค่ Key Message เท่านั้น เหมือนกับโยเกิร์ตเมจิรสองุ่น ที่ทั้งเพลงมีแค่คำว่า เนื้อนุ่มแน่นๆ กว่า 30 ประโยคที่ฟังเพลง

ขอบคุณรูปภาพจากเพจ Meiji Yoghurt

ถามว่าคนดูชอบมั้ย ไม่ชอบเพราะมีเนื้อร้องแค่ท่อนเดียว แต่ถามว่าจำได้มั้ยก็จำได้ จำได้ว่าโยเกิร์ตรสองุ่นใหม่ เนื้อวุ้นนุ่มแน่น เพราะทั้งเพลงมีแค่นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องการ คุณไม่ต้องชอบเพลงแต่จำเพลงได้ก็พอ เพราะถ้าจำเพลงได้แสดงว่าจำ Key Message ได้

 

ยิ่งร้องซ้ำ ยิ่งฝังหัว

ย้อนกลับไปปีที่แล้วที่เรียกว่าเป็นปีของ Shopee เพราะจัดโปรโมชั่นกระหน่ำพร้อมกับยืนหยัดว่า Shopee ส่งฟรีทั่วไทย สั่ง Shopee เลย โดยในเพลงจะลงท้ายด้วยสระอีเพื่อให้คล้องกับชื่อแบรนด์

 

“ในช้อปปี้ๆๆๆๆ เสื้อผ้าดีๆๆๆๆ ทุกอย่างมีๆๆๆๆ ที่ช้อปปี้” ถึงจะเป็นเพลงที่สั้นแต่ทั้งเพลงก็มีแค่ท่อนแนวนี้ พ่วงกับพลัง Media ที่ลงหนักทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ชนิดที่ว่าต่อให้ไม่ชอบเพลง ก็ร้องเพลงได้ เพราะเพลงได้ถูกฝังเข้ามาในหัวของเราแล้ว

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเพลงนี้ พ่วงไปกับกระแสเพลง Baby Shark ที่มีการร้องแบบไวรัลในหมู่ศิลปินเกาหลีและชาวติ่งเกาหลี เซเลบของไทยก็นำมาร้อง พอมีการสื่อสารเพลงนี้ผ่านสื่อออนไลน์และออฟไลน์ยิ่งทำให้กระแสเพลงโด่งดังอย่างรวดเร็ว

จริงๆ การได้ยินอะไรซ้ำๆ จะเป็นที่จดจำได้ดีทีสุด ก็เหมือนกันกับการอ่านหนังสือ ยิ่งอ่านหลายรอบก็ยิ่งเข้าใจ หรือการท่องศัพท์ที่ใช้เพลงเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เทคนิคนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบันมาก 

 

ไม่ต้องกลัวการกด Skip

ข้อดีสำคัญของเทคนิคนี้คือไม่ต้องกลัวการกด Skip เพราะสามวินาทีแรกของเพลงก็หลอนเข้าไปในประสาทเรียบร้อย และเต็มไปด้วย Key Message หลบเลี่ยงยังไงก็คงไม่พ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่นักการตลาดส่วนใหญ่ปวดหัว

เนื่องจากลงทุนเสียเงินค่า Ads สูงมาก แต่รีเทิร์นกลับมาได้น้อย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่กด Skip กันแบบรวดเร็ว แต่ยังไงแล้วการลงทุนกับ Music Marketing ก็มีต้นทุนที่สูงมากเริ่มตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับความดังของนักร้องท่านนั้น จึงต้องดูจังหวะเเละไทม์ไลน์หลายอย่างทำให้ยังไม่เห็นแบรนด์ใหญ่ทำเพลงสไตล์นี้มากนัก จะเน้นไปที่ Tiein คุณประโยชน์ในเพลงมากกว่า

อย่างเช่น โฆษณาของ PEPSI ที่ดึงเอานักร้อง 4 สไตล์มารวมกันในเพลงเดียว และเนื้อหาของเพลงก็ดึงดูดใจคนฟังจนติดหูได้แบบง่ายๆ ยิ่งขึ้นในทุก Feed ของโฆษณาออนไลน์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เพลงนี้โด่งดังไปพร้อมกับแบรนด์เป๊ปซี่

จริงๆ แล้ววิธีการแต่งเพลงแนวนี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เผลอๆ จะแต่งง่ายกว่าเพลงปกติด้วยซ้ำ แต่การจะทำให้เพลงแนวนี้เป็น Viral จำเป็นต้องใช้พลังของ Media ค่อนข้างเยอะทั้งออนไลน์และออฟไลน์เลย ต้นทุนต่อแคมเปญจึงสูงกว่าแคมเปญทั่วไป นักการตลาดท่านใดสนใจต้องรีบทำก่อนที่ปีหน้าจะมีเทรนด์ใหม่เข้ามา ไม่อย่างนั้นวิธีนี้อาจะไม่ได้ผลแล้วก็เป็นได้

 

The post “ไม่ชอบแต่ก็ร้องได้” เทคนิคทำ Music Marketing สู่ Viral Content appeared first on Thumbsup.

[source: https://www.thumbsup.in.th/2019/07/music-marketing-viral-content/]