thumbsup » 10 เหตุผลว่าทำไมคอนเทนต์แบบ List post หรือการเล่าเรื่องเป็นข้อๆ ถึงล้มเหลว

10 เหตุผลว่าทำไมคอนเทนต์แบบ List post หรือการเล่าเรื่องเป็นข้อๆ ถึงล้มเหลว

9 ตุลาคม 2014
46   0

เดี๋ยวนี้มีคอนเทนต์ประเภท List post พูดถึงแล้วอาจจะงง แต่ถ้าบอกว่าเป็นคอนเทนต์ประเภท “7 อุปนิสัย…” , “10 เหตุผล…”, “8 เคล็ดลับ…”, “6 เทคนิค” หรือก็คือบทความที่มีสไตล์การเล่าเรื่องเป็นข้อๆ แบบบทความนี้นี่แหละค่ะ จากสถิติแล้ว นอกจากคอนเทนต์ประเภท Infographic ก็มีคอนเทนต์ประเภท List post นี่แหละที่คนชอบแชร์ อาจจะเป็นเพราะว่าคอนเทนต์ในลักษณะนี้ย่อยได้ง่าย คนอ่านก็ชอบ เพราะอ่านแบบสแกนเร็วๆ ก็ยังเข้าใจได้ง่าย แชร์ต่อได้ง่าย คนผลิตคอนเทนต์ก็แฮปปี้

listgraph

แต่การเขียน List post อาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามันจะถูกแชร์เสมอไป เราเลยมี List post มาแนะนำว่ามีอะไรบ้างที่ควรจะหลีกเลี่ยงหากจะนำเสนอบทความแบบ List post (งงใช่มั้ยล่ะ) หรืออย่างน้อยก็เอาไว้เช็คบทความก่อนจะกด Publish ได้ค่ะ

เหตุผลที่ 1 คุณไม่ได้ใช้จำนวนที่เหมาะสม

ในแต่ละบทความควรจะมีกี่ข้อ ไม่มีคำตอบตายตัว แต่มีคนเคยวิเคราะห์บทความกว่า 100 ล้านชิ้น (แปลไม่ผิดนะคะ 100 ล้านชิ้นจริงๆ อยากจะให้คะแนนความไฟท์เต็มสิบ) ผลปรากฏว่าบทความที่ได้รับความนิยมสูงสุดจะใช้จำนวนเหล่านี้ในการเล่าเรื่อง : 10, 23, 16 และ 14 เรียงตามลำดับ โดยบทความที่นำเสนอ 10 ข้อจะถูกแชร์มากกว่าโพสท์ที่ใช้ 23 ข้อถึง 4 เท่า (อาจจะเป็นเพราะว่ามันสั้นกว่าก็ได้นะ คนเลยอ่านจบได้ไวกว่า)

เหตผลที่ 2 List post ของคุณอ่านแบบสแกนไม่ได้

ความดีความงามของคอนเทนต์ประเภท List post คือมันย่อยง่าย ถ้าคุณเขียนออกมาแล้วคนอ่านไม่สามารถจะเข้าถึงประเด็นสำคัญๆ ได้ด้วยการสแกนผ่านๆ จากหัวข้อ แสดงว่าต้องมีอะไรผิดปกติ

ลองดูบทความนี้ก็ได้ค่ะ คุณสามารถเข้าใจประเด็นสำคัญๆ ที่ผู้เขียนต้องการจะบอกได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วเพียงแค่อ่านที่หัวข้อเท่านั้น 

เหตุผลที่ 3 คุณไม่เขียน Intro

การที่คุณเขียนบทความแบบ List post ไม่ได้แปลว่าคุณจะเข้าสู่เนื้อหาข้อที่ 1, 2, 3 … ได้เลยแบบไม่ต้องแนะนำอะไรให้กับคนอ่าน

พูดง่ายๆ คือคุณต้องเกริ่นอะไรสักเล็กน้อยเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องกับคนอ่าน หลักการสำคัญๆ ของ Intro คือบอกให้คนอ่านรู้ว่าที่มาที่ไปของบทความนี้และทำไมพวกเขาจะต้องสละเวลามาอ่านมัน

เหตุผลที่ 4 คุณไม่ใส่รูปภาพ

“ภาพ 1 ภาพมีค่านับพันคำ” เป็นประโยคเชยๆ ที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด การใส่รูปภาพจะช่วยให้คนอ่านเข้าใจประเด็นที่คุณอยากบอกได้เร็วขึ้น

ภาพที่เอามาใช้จะต้องเกี่ยวกับเนื้อหา และอาจจะเป็นกราฟเพื่อสรุปไอเดียของเรื่องราวเหมือนที่บทความนี้ใช้กราฟมาสร้างความน่าเชื่อถือว่าบทความประเภท List post ได้รับความนิยมมากแค่ไหน

เหตุผลที่ 5 คุณเป็น list – ception

คุณเคยเห็นเอกสารที่มีหัวข้อใหญ่แล้วตามด้วยหัวข้อย่อยซ้อนหัวข้อย่อยอีกหลายๆ รอบใช่ไหม นั่นแหละ list – ception

ถ้าคุณมีไอเดียหลักๆ อยู่ 10 ข้อ ก็คือ 10 ข้อ ไม่ควรมี 10.1 และอื่นๆ เพราะมันจะทำให้บทความของคุณดูสับสน อย่าลืมว่าหัวใจสำคัญของคอนเทนต์แบบนี้คือการอ่านได้ง่ายๆ

ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อยากจะใส่ข้อย่อยมากๆ ไม่ใส่แล้วนอนไม่หลับ แนะนำให้ใช้ bulletpoint แยกออกมาก็ได้ค่ะ แต่อย่าเยอะ ความงงของคนอ่านมีผลต่อการกดแชร์นะคะ

เหตุผลที่ 6 คุณไม่เขียนสรุป

คุณต้องสรุป Main idea ทั้งหมดอีกครั้งในตอนท้ายของบทความ เพราะมันจะช่วยเพิ่มโอกาสที่คนจะอ่านคอนเทนต์ของคุณได้อีก 10 %

จากสถิติที่เก็บจาก Scroll maps พบว่าเมื่อคนเข้ามาถึงหน้าเพจแล้วจะเลื่อนลงมาอ่านบทสรุปก่อน หากน่าสนใจจึงจะเลื่อนไปอ่านรายละเอียดข้างบน นี่คือเหตุผลที่คุณควรจะเขียนสรุป

เหตุผลที่ 7 คุณไม่สื่อสารกับคนอ่าน

การเขียนบทความไม่ได้แปลว่ากำลังสื่อสารกับคนอ่านเสมอไป ถ้าอยากสื่อสารกับคนอ่าน ควรทำให้เหมือนกำลังสนทนาหรือพูดคุยกับคนอ่านจริงๆ คุณอาจจะลองตั้งคำถามกับคนอ่านเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาเคยประสบมาก็ได้ เพื่อให้มีจุดร่วมระหว่างคุณกับคนอ่าน

เหตุผลที่ 8 คุณไม่ลงรายละเอียด

คนที่เขียนคอนเทนต์แบบแบ่งเป็นข้อๆ ไม่ได้เป็นคนขี้เกียจ ดังนั้น ไม่ควรจะใส่เฉพาะหัวข้อโดยไม่ได้อธิบายอะไรต่อ

คุณควรจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ให้แน่ใจว่าคนอ่านจะได้รู้อะไรเกี่ยวกับมัน นอกจากนี้ ยิ่งคุณเขียนคอนเทนต์หรือรายละเอียดมากขึ้น ก็จะได้  traffic ที่จะตามมาจากการ serach เป็นของแถม

เหตุผลที่ 9 คุณไม่ทำให้ List ของคุณเหมาะกับ Twitter

ถ้าบล็อกของคุณดังมาก คุณอาจจะไม่ต้องกังวลเรื่องนี้มากนัก แต่มันอาจจะช่วยให้บล็อกของคุณมี traffic มากขึ้นก็ได้นะ

บทความนี้บอกว่าการทำให้แต่ละหัวข้อมีความกระชับหรือเหมาะสำหรับการนำเสนอบน Twitter (ไม่เกิน 140 ตัวอักษร) จะช่วยเพิ่มโอกาสที่มันจะถูกแชร์บน Twitter 30% โดยเฉลี่ย

เหตุผลที่ 10 คุณลืมนึกถึงคนอ่าน

การเขียนแต่ละแบบย่อมมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน เป็นต้นว่าการเขียนบทความ List post สำหรับผู้บริโภคทั่วไปต้องไม่เหมือนกับการเขียนสำหรับธุรกิจซึ่งต้องการรายละเอียดมากกว่า ในขณะที่ผู้บริโภคต้องการอ่านข้อมูลแบบเร็วๆ

ด้วยเนื้อหาที่มีความหมายเหมือนกัน ธุรกิจต้องการสถิติและข้อมูล แต่ผู้บริโภคต้องการรูป ดังนั้น อย่าลืมปรับวิธีนำเสนอให้เข้ากับคนอ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของคุณด้วย

ข้อสรุป

ผู้เขียนบทความนี้บอกว่า List post เป็นประเภทของคอนเทนต์ที่จะช่วยดึง traffic ได้มาก ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจแบบไหนก็ตาม ดังนั้น การใช้มันจึงเป็นเรื่องดี เพียงแค่อย่าลืมข้อควรระวังที่ได้นำเสนอไว้ทั้ง 10 ข้อ ยิ่งหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดได้มากเท่าไรก็จะยิ่งใช้ประโยชน์จากบทความประเภท List post มากขึ้นเท่านั้น

ที่มา: Quicksprout

[source: http://thumbsup.in.th/2014/10/10-reasons-why-your-list-post-fails/]