thumbsup » 9 สิ่งที่นักการตลาด(และคุณ)ควรรู้จากงาน Google I/O 2019

9 สิ่งที่นักการตลาด(และคุณ)ควรรู้จากงาน Google I/O 2019

13 พฤษภาคม 2019
5   0

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา Google ได้แถลงเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ ในงานที่จัดขึ้นทุกปีอย่าง Google I/O 2019 นอกจากการพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ทำให้ระบบค้นหา (Search Engine) เก่งกาจมากขึ้น มาดูกันว่า 9 สิ่งที่นักการตลาดและคุณควรรู้จากงานนี้มีอะไรบ้าง

1. AR จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับการค้นหา

ระบบค้นหาของกูเกิลที่เราคุ้นเคยกันมานับสิบปี กำลังจะทำให้ผลการค้นหาน่าสนใจมากขึ้น ด้วยการรองรับเทคโนโลยี AR เพื่อให้เราสามารถเห็นภาพของผลการค้นหาในรูปแบบของวัตถุสามมิติ ขนาดเท่าของจริง หมุนดูได้ทุกมุม และสามารถนำมาจำลองวางในพื้นที่จริงได้

เช่น การค้นหารองเท้าสักคู่ ก็สามารถนำมาลองวางที่ห้อง เทียบกับชุดที่จะใส่ดูได้ ว่ามันเข้ากันอย่างที่เราตั้งใจหรือไม่ ก่อนที่จะไปตัดสินใจเลือกซื้อได้

เห็นได้จากการสาธิตการใช้งานแอป Google Lens ในงาน I/O ปีนี้ ทำให้ผู้ใช้มือถือ Android สามารถให้กูเกิลช่วยวิเคราะห์ข้อมูลตรงหน้าได้แบบทันที

2. Google Lens จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น

Google ยังเพิ่มความสามารถใหม่ๆ โดยยุบขั้นตอนยุ่งยากในชีวิตประจำวัน เช่น สามารถใช้กล้องส่องเมนูที่ร้านอาหาร เพื่อแตะดูได้เลยว่า เมนูไหน มีหน้าตาเป็นอย่างไร มีรีวิวจากคนที่เคยมาทานแล้วกี่คะแนน โดยไม่สลับแอพไปมาเพื่อค้นหา

หรือสามารถใช้กล้องส่องบิลร้านอาหาร เพื่อคำนวนว่าต้องทิปเท่าไหร่ หรือเลือกจำนวนคนที่ทานด้วยกัน เพื่อให้แอพคำนวนได้เลยว่าหารแล้ว ต้องจ่ายคนละเท่าไหร่ จบในแอพเดียว

หลังจากนี้กำแพงภาษาก็ถูกทำลายลง เพราะแค่ใช้กล้องมือถือส่องไปที่ป้าย ก็สามารถแปลภาษาแบบได้ทันที รวมถึงสามารถแตะให้อ่านป้ายให้ฟังได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาของประเทศที่เราจะเดินทางไป

เปิดทางให้ทุกคน สามารถเข้าใจสิ่งใหม่ได้ในรูปแบบที่ง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

3. สั่งจองบริการด้วยเสียงได้แบบม้วนเดียวจบสรอพ

ในงาน I/O ปีที่แล้ว Google เปิดตัว Duplex เทคโนโลยีที่ช่วยให้ Google Assistant ทำงานได้เก่งกาจยิ่งขึ้น โดยโชว์ว่ามันสามารถเป็นผู้ช่วย SME ให้สามารถรับโทรศัพท์แทนเจ้าของร้านไปแบบอัตโนมัติ และเปิดตัวเป็นแพลตฟอร์ม CallJoy ในเวลาต่อมา

ปีนี้ Google เปิดตัวนวัตกรรมใหม่อีกในชื่อ Duplex on the web ทำให้ Google Assistant สามารถดำเนินการบางอย่างให้เสร็จสรรพได้ทันที โดยเราไม่จำเป็นต้องกดหน้าจอที่ปุ่มหรือคีย์บอร์ดต่อไป ตัวอย่างให้คลิปด้านบนแสดงให้เห็นว่า Duplex จะช่วยให้เราสามารถจองรถล่วงหน้าได้ทันที โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ เพราะเรามีข้อมูบส่วนตัวเก็บไว้อยู่แล้ว แค่บอกว่าจะให้ทำอะไร ระบบก็พร้อมดำเนินการให้ทันที

ช่วยให้การใช้บริการต่างๆ กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นกว่าเดิม ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด

4. ตั้ง Voice command ในแบบของตัวเองได้ดีขึ้น

ข้อมูลของแต่ละคน ย่อมมีความแตกต่างกัน ศัพท์คำเดียวกัน อาจมีความหมายคนละอย่างกัน เช่น คำว่า “บ้านแม่” ของแต่ละคน ก็เป็นคนละข้อมูลและสถานที่กัน ทำให้ Google เปิดตัว ‘Personal References’ เพื่อให้เข้าใจบริบทการใช้งาน Voice Recognition ของแต่ละคนได้ใกล้เคียงกับภาษาที่มนุษย์เข้าใจ

เช่น ถามกูเกิลว่า “จากที่นี่ไปบ้านแม่ ใช้เวลาเท่าไหร่” กูเกิลก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า เรากำลังจะเดินทางไปที่บ้านคุณแม่ คำนวนเวลาประกอบกับข้อมูลจราจร และตอบกลับเส้นทางมาให้ได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ กูเกิลยังเปิดเผยโปรเจค Euphonia ระบบ Voice Recognition สำหรับผู้พิการทางการออกเสียง เช่น ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ไม่สามารถออกเสียงเป็นภาษาได้อย่างชัดเจน ก็สามารถใช้เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงได้เช่นกัน

5. Live Caption ขึ้นแคปชันได้ทันทีไม่ต้องใส่เอง

อีกหนึ่งฟีเจอร์สำคัญที่ถูกเปิดตัวในงาน I/O ปีนี้ คือ ‘Live Caption’ หรือระบบการทำซับไตเติ้ล (Subtitle) อัตโนมัติให้กับทุกคลิปวิดีโอ หรือแม้แต่ Podcast หากนำมาเล่นบนมือถือ Android ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกเปิด Live Caption โชว์ซับไตเติ้ลได้อัตโนมัติ รองรับหลายภาษา

แน่นอนว่าฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นผลดีต่อกลุ่มคนที่พิการทางการได้ยินที่มีจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก สามารถเข้าถึงคอนเทนต์วิดีโอได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการจะดูวิดีโอแบบปิดเสียงในขณะเดินทาง ก็สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้เช่นกัน

6. ให้ความสำคัญกับ ‘ข่าว’ และ ‘Podcast’ มากขึ้น

ปกติแล้วแอปและเว็บ Google News จะสามารถกดตรงปุ่ม View full coverage เพื่อดูว่าแต่ละสำนักข่าวรายงานเหตุกาารณ์ออกมาเป็นอย่างไร และดูได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาต่อเนื่องได้อีกบ้าง ซึ่งหลังจากนี้ฟีเจอร์ดังกล่าวจะมาปรากฎบนหน้าค้นหาของ Google แล้ว

รวมถึง Google ประกาศว่า Podcast ที่เพิ่มเข้าแอป Google Podcast จะถูกเพิ่มเข้าสู่หน้าค้นหาของ Google ด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ Google ถอด Podcast ที่อยู่ในระบบออกมาเป็น text ทำให้ค้นหาผ่านแอปดังกล่าวได้มาก่อนแล้ว

7. App Actions ในแอป Google เพิ่มขึ้นมาอีก 4 หมวด

งาน I/O ปีก่อน Google เปิดตัว App Actions ฟีเจอร์ที่ช่วยให้คุณสามารถกำหนดการทำงานของแอปหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้อัตโนมัติ ล่าสุดในงาน I/O ปีนี้ เปิด App Actions เพิ่มขึ้นมาอีก 4 หมวด ได้แก่ สุขภาพและการออกกำลังกาย (Health and fitness), การเงินและธนาคาร (Finance and banking), การสั่งอาหาร (Food ordering) และการเรียกรถจากบริการต่างๆ (Ridesharing)

นอกจากนี้ Google ยังเตรียมเปิดให้นักพัฒนาแอป สามารถสร้างคำสั่งเรียกใช้แอปของตัวเองผ่าน Google Assistant ได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ คำสั่งที่คุณสามารถเรียกใช้ได้ก็เช่น

  • ส่งเงิน จ่ายบิล และดูยอดเงินในบัญชีได้
  • จองรถ(จากบริการ Ridesharing) ติดต่อคนขับ และตรวจสอบสถานะคนขับได้
  • สั่งอาหาร และตรวจสอบสถานะการสั่งอาหารได้
  • สั่งให้เรนิ่มหรือหยุดการบันทึกการออกกำลังกายได้
  • บันทึกการทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มต่างๆ และตอบคำถามด้านโภชนาการได้

ดูคำสั่งอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาได้ที่ลิงก์นี้

8. โฆษณา Google บนแอป จะไปโชว์ในฟีดหน้าแรกของ YouTube ได้

Google App Campaign (เดิมชื่อ Universal App Campaigns) เปิดตัววิธีการ bidding (เสนอซื้อ) โฆษณาใหม่จากเงินที่มีอยู่ โดยเปิดตัว Target Return On Ad Spend (tROAS) แบบอัตโนมัติ โดยอัลกอริทึมจะปรับราคาเสนอให้สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อแสดงโฆษณาที่มีแนวโน้มใช้เงินมากขึ้น โดยคำนวณจากยอดเงินที่ใช้ใน In-App Purchase ที่ได้ติดตั้งไปโดยจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

นอกจากนี้คลังโฆษณาของ YouTube อย่าง App ad inventory (บรรดา Publisher ที่เปิดให้เอาโฆษณามาลงแล้วเอาไปแสดงบนแอป) ตอนนี้เปิดให้นำโฆษณาจากตรงนี้ไปแสดงบนฟีดหน้าแรกของ YouTube และบน In-Stream Video สำหรับผู้ลงโฆษณา โดยในแคมเปญจะต้องมีแนวภาพแนวนอนหนึ่งอันและวีดีโออย่างน้อยหนึ่งตัว

9. เน้นสร้าง Privacy แบบจริงจัง เห็นข้อมูลผู้ลงโฆษณาได้มากขึ้น

ที่ผ่านมา Google ถูกตั้งคำถามถึงการนำข้อมูลการใช้งานอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนว่าคำค้นหาของผู้ใช้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวนผลเรื่องโฆษณา ไม่แปลกที่ผู้ใช้จะรู้สึกไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยของข้อมูลที่ Google เก็บไว้ ทำให้ Google ขยับตัวเรื่องของความเป็นส่วนตัวด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใน Android Q และเพิ่มเรื่องของความโปร่งใสในการโฆษณา (Ads transparency) มากขึ้น

โดย Google ระบุว่ากำลังพัฒนา Extension สำหรับเว็บเบราเซอร์ โดยมันจะสามารถแสดงข้อมูลให้เห็นว่าโฆษณาตัวนี้มาจากบริษัทไหน รวมถึงจะบอกได้ว่าโฆษณาตัวนี้ใช้ข้อมูลอันไหนของผู้ใช้มาช่วยในการแสดงผลบ้าง โดยข้อมูลดังกล่าวจะเหมือนการกด ‘Why this ad’ บนโฆษณา แต่การดูผ่าน Extension ก็ถือว่าสะดวกสำหรับบุคคลทั่วไปอยู่พอสมควร

สรุป

Google ย้ำเสมอว่าภารกิจของบริษัท คือ การจัดการข้อมูลให้เกิดประโยชน์ และให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงได้ ถึงวันนี้ มีผู้คนประมาณครึ่งโลก ที่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ แต่ภารกิจของกูเกิล ยังเหลือหนทางอีกยาวไกล แม้ว่าเทคโนโลยีหลายอย่างจะพัฒนามาไกลมาก แต่ปัจจุบันกระแสเรื่องของความเป็นส่วนตัว ก็ยังเป็นประเด็นที่หลายบริษัท รวมถึง Google ยังหาจุดสมดุลของเรื่องความเป็นส่วนตัวให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการอยู่ร่วมกันได้ต่อไป

ที่มา : Vantage (1) (2), Search Engine Journal (1) (2) (3) และ Google (1) (2) (3)

 
Source: thumbsup

The post 9 สิ่งที่นักการตลาด(และคุณ)ควรรู้จากงาน Google I/O 2019 appeared first on thumbsup.

[source: https://thumbsup.in.th/2019/05/9-things-marketeers-and-you-should-know-from-google-io-2019/]