ข่าวไอที Blognone » EFF วิจารณ์บริษัทไอทีที่ต้านเว็บนาซีใหม่ ทวงถามอนาคตเสรีภาพในการแสดงออก

EFF วิจารณ์บริษัทไอทีที่ต้านเว็บนาซีใหม่ ทวงถามอนาคตเสรีภาพในการแสดงออก

20 สิงหาคม 2017
4   0

จากกรณีเหตุปะทะระหว่างกลุ่มนิยมคนขาวแบบสุดโต่งกับกุล่มต้านการเหยียดผิวเกิดขึ้นที่ชาร์ล็อตต์วิลล์จนทำให้วงการไอทีออกตัวต่อต้านชัดเจน ทั้ง GoDaddy, Google, Discord, Facebook, Twitter, Apple, Spotify ฯลฯ พร้อมใจกันระงับการใช้งานเว็บนาซีใหม่ (neo-Nazi) หรือ Daily Stormer กันเต็มที่ แม้จะมีทนายความอาวุโสจาก EFF เคยให้สัมภาษณ์กับ The Verge ว่า GoDaddy มีสิทธิที่จะไม่ให้บริการโดเมนแก่เว็บใดๆ ก็ย่อมได้

ล่าสุด EFF (Electronic Frontier Foundation) ผู้สนับสนุนให้มีการบริการคอนเทนต์อย่างเป็นกลาง ชี้แจงผ่านบทความการต่อสู้กับนาซีใหม่และอนาคตของเสรีภาพในการแสดงออก พูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่ามีทั้งอารมณ์ ตรรกะ และการบิดการใช้กฎหมายผสมผสานกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอินเทอร์เน็ตสามารถใช้แทคติกใดๆ ก็ได้ที่ทำให้เสียงของเหล่า neo-Nazi เงียบลง ขณะเดียวกันฝั่งที่เราเห็นด้วยก็อาจจะได้รับผลกระทบในไม่ช้า

No Description
ภาพจาก EFF

EFF เห็นว่า การปกป้องเสรีภาพในการพูด (free speech) ไม่ใช่เพราะเห็นว่าทุกคำพูดเราต้องปกป้อง แต่เพราะเชื่อว่าไม่มีใคร หรือหน่วยงานรัฐใด หรือองค์กรเอกชนใดๆ ควรจะตัดสินใจได้ว่าใครควรจะพูดหรือใครไม่ควรพูด โดยยกเหตุการณ์ของเว็บไซต์ Daily Stormer ที่เป็นของกลุ่มนาซีใหม่ที่เผยแพร่บทความที่ทำร้ายความรู้สึกและล่วงละเมิดผู้อื่นอย่าง Heather Heyer หญิงสาวที่เสียชีวิตจากการถูกคนจากกลุ่ม white supremacy ขับรถพุ่งชนกลุ่มที่ต้านการเหยียดผิว จากนั้น GoDaddy ก็ยุติการให้บริการ ตามด้วย Google และ Cloudflare

EFF ปกป้องสิทธิที่คนจะสามารถพูดอะไรก็ได้ตามที่บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมขอรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ระบุไว้ว่า สภาคองเกรสจะไม่ผ่านกฎหมายใดๆ ที่บั่นทอนเสรีภาพในการพูด การพิมพ์ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการติดต่อสื่อสาร มาตรา 230 ที่มีมาตั้งแต่ปี 1996 เป็นกลไกในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและนวัตกรรมทางอินเทอร์เน็ต

GoDaddy, Google และ Cloufflare ได้ทำสิ่งที่อันตราย เพราะผู้เป็นสื่อตัวกลางในการให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (Internet intermediaries) โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผู้แข่งขันน้อยราย การตัดสินใจควบคุมเสรีภาพในการพูดจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก สื่อตัวกลางจะอยู่ระหว่างคนเขียนหรือคนโพสต์และคนอ่านคอนเทนต์ ซึ่งรวมถึง ISP ที่เป็นผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตด้วย เหตุผลที่ทำให้คนสนับสนุนความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตเป็นล้านๆ ราย ก็เพราะเขากังวลกับการเซ็นเซอร์

No Description
ภาพจาก EFF, Manila Principles

EFF เห็นว่าผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อตัวกลางดังกล่าว ควรมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ แม้ว่าจะมีคอนเทนต์แบบใดก็ตามที่ทำให้ผู้เป็นสื่อตัวกลางต้องปฏิเสธการเผยแพร่ ไม่ว่าจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขในการให้บริการ ไปจนถึงการกดดันโดยรัฐเพื่อให้มีการเซ็นเซอร์อย่างลับๆ EFF เสนอให้ทำตามแนวทางหลักการมะนิลาว่าด้วยความรับผิดของสื่อตัวกลาง Manila Principles on Intermediary Liability เพื่อบรรเทาความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและบาลานซ์ความต้องการระหว่างรัฐบาล ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มประชาสังคมต่างๆ ที่มีอยู่ที่โลก เพื่อให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ

Manila Principles หรือหลักการมะนิลา ระบุว่า

  • สื่อตัวกลางควรได้รับความคุ้มครองจากการรับผิด ที่มาจากเนื้อหาของบุคคลที่สาม
  • เนื้อหาต้องไม่ถูกกำหนดให้ควบคุมใดๆ เว้นแต่จะมีคำสั่งจากศาล
  • การเรียกร้องให้ควบคุมเนื้อหาต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย
  • กฎหมายและคำสั่งในการควบคุมเนื้อหารวมทั้งการปฏิบัติต้องเป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสมตามครรลองของสังคมประชาธิปไตย
  • นโยบาย หลักปฏิบัติ และกฎหมายในการควบคุมเนื้อหาต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
  • นโยบาย หลักปฏิบัติ และกฎหมายในการควบคุมเนื้อหาต้องโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ที่มา - EFF, Manila Principles

[source: https://www.blognone.com/node/94864]