เมื่อเดือนกรกฎาคม Facebook ได้ปล่อยงานวิจัยหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่อง "สิ่งที่เราเห็นใน Social Network มีผลกระทบกับอารมณ์ของเราหรือไม่" (ดูงานวิจัยได้ที่นี่) งานวิจัยนี้ถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องของจริยธรรมในการทดลองกับความคิดความรู้สึกของคน (ถึงแม้ว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะในการสมัคร Facebook ตอนแรกผู้ใช้ต้องยินยอมให้ Facebook นำข้อมูลเราไปทำการวิจัยหรือทดลองได้ก็ตาม)
ที่ผ่านมามีตัวแทน Facebook ออกมาพูดแก้ไขสถานการณ์อยู่ไม่กี่คน เช่น Adam Kramer นักวิจัยของ Facebook และ Sherryl Sandberg ที่ออกมากล่าวว่าไม่ได้ตั้งใจทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่ดี แต่อย่างไรก็ดี Facebook ก็ได้ออกมาชี้แจงและเตรียมปรับปรุงเงื่อนไขในการทำวิจัยในครั้งต่อๆ ไปแล้ว โดยสาระในการชี้แจงมีดังนี้
Facebook ทำวิจัยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- การปรับปรุงโครงสร้างระบบ (system infrastructure)
- การเสริมประสบการณ์การใช้งาน (user experience)
- การสร้างปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)
- การวิจัยด้านสังคมศาสตร์ (social science)
Facebook ทำวิจัยเพื่อหาว่าควรทำอะไรต่อไป และทำมันอย่างไร เป้าหมายคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองให้ดีขึ้น บริษัทมีภารกิจวิจัยเพื่อให้ Facebook ดีขึ้น แต่กระบวนการทำวิจัยก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในปี 2011 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าถ้าผู้ใช้ได้เห็นโพสต์แง่บวกจากเพื่อน จะทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดี และ Facebook คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ และดูว่ามีมีสิ่งใดที่ Facebook สามารถเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
เหตุผลข้างต้นทำให้ Facebook ทำงานวิจัย (ที่เป็นปัญหา) ออกมาในปี 2014 ผลการวิจัยแตกต่างจากงานวิจัยชิ้นแรก โดยพบว่าถ้าผู้ใช้เห็นโพสต์แง่บวกจากเพื่อน จะทำตอบสนองต่อโพสต์นั้นในแง่บวกกลับไป
Facebook ไม่คิดว่างานวิจัยดังกล่าวจะถูกวิจารณ์มากขนาดนี้ แต่ก็รับฟังเสียงวิจารณ์ และเรียนรู้ว่าสามารถทำกระบวนการบางอย่างให้ต่างไปจากเดิมได้ เช่น มีงานวิจัยหัวข้อเดียวกัน ที่ไม่ต้องใช้วิธีทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง และควรให้นักวิจัยคนอื่นๆ ในแวดวงตรวจสอบงานวิจัยก่อนเผยแพร่ให้มากกว่านี้
นอกจากนี้ Facebook ก็ยอมรับว่าสื่อสารเรื่องงานวิจัยชิ้นนี้ได้ไม่ดีว่าทำเพราะอะไร และใช้วิธีอะไรในการทดลอง
ดังนั้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา Facebook จึงทบทวนกระบวนการทำวิจัยใหม่ และกำหนดกรอบการทำวิจัยใหม่ซึ่งมีผลกับงานวิจัยภายในบริษัท และงานวิจัยที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะในอนาคต
- กำหนดแนวทางการวิจัยที่ชัดเจนกว่าเดิม เช่น ถ้ามุ่งเน้นศึกษากลุ่มประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ ถ้างานวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกคนหรือเป็นเรื่องส่วนบุคคล จะต้องมีการตรวจสอบก่อนเริ่มทำงานวิจัย และถ้างานวิจัยต้องทำร่วมกับนักวิจัยภายนอก ก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่ละเอียดกว่าเดิม
- ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานวิจัย โดยประกอบด้วยนักวิจัยที่อาวุโสที่สุดของ Facebook ในประเด็นนั้นๆ รวมถึงบุคลากรจากฝ่ายวิศวกรรม วิจัย กฎหมาย ความเป็นส่วนตัว และนโยบาย มาร่วมตรวจสอบงานวิจัยด้วย
- Facebook จะนำเนื้อหาด้านระเบียบวิธีวิจัยไปใส่ในคอร์สอบรมมาตรฐานของวิศวกรใหม่ และนำเนื้อหาด้านการวิจัยไปใส่ในคอร์สอบรมด้านความปลอดภัย-ความเป็นส่วนตัวประจำปี ที่ทุกคนในบริษัทต้องเข้าอบรม
- กำหนดเว็บไซต์ปล่อยงานวิจัยของ Facebook คือ เว็บนี้ และจะมีการปรับปรุงสม่ำเสมอ
ที่มา - Facebook Newsroom