kengcom เว็บไซต์ที่รวบรวม ข่าววงการไอที และ เทคโนโลยี 2017

Google สร้าง AI ใส่กล้องจุลทรรศน์ ส่องเนื้อเยื่อวิเคราะห์กันชัดๆ เซลล์ไหนเป็นเนื้อร้าย

Google พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ใหิวิเคราะห์ภาพจากกล้องจุลทรรศน์ ด้วยการเรียนรู้ภาพเนื้อเยื่อเซลล์มะเร็งที่ผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์มาแล้วมากมาย มันสามารถมองภาพที่ถ่ายมาใหม่ๆ แล้วแยกแยะได้ว่าตรงไหนเป็นเนื้อร้ายที่กลายเป็นเซลล์มะเร็ง หรือเนื้อเยื่อส่วนไหนที่มีความผิดปกติ

สิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ของ Google ทำนี้ คือการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพยาธิแพทย์ เมื่อถาดใส่เนื้อเยื่อสำหรับการวิเคราะห์ถูกใส่เข้ามาในกล้องจุลทรรศน์ที่ได้รับการดัดแปลงพิเศษ ภาพของเนื้อเยื่อนั้นจะถูกสะท้อนด้วยกระจกไปยังหน่วยประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ด้วย ในขณะที่โปรแกรมทำการวิเคราะห์ภาพเนื้อเยื่อที่อยู่ในกล้องจุลทรรศน์ มันจะแสดงผลเป็นภาพ AR ปรากฏบนหน้าจอสะท้อนไปยังตาของผู้ใช้ที่กำลังจับจ้องผ่านช่องส่องภาพของกล้องจุลทรรศน์

Google เรียกระบบอุปกรณ์ที่พัฒนามาใช้งานแสดงภาพ AR สำหรับกล้องจุลทรรศน์นี้ว่า ARM (Augmented Reality Microscope) มันไม่เพียงแสดงผลเป็นเส้นล้อมรอบเซลล์เนื้อร้ายได้เท่านั้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลเป็นสัญลักษณ์อื่น เช่น ลูกศรชี้ตำแหน่ง, ข้อความอธิบาย หรือกระทั่ง heat map และสิ่งที่สำคัญของ ARM ก็คือมันสามารถนำไปใช้งานติดตั้งเข้ากล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงซึ่งมีใช้งานทั่วไปในห้องปฏิบัติการและสถานพยาบาลได้

No Description

สิ่งที่ผู้ใช้มองเห็นก็จะเหมือนกับว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ขีดเส้นล้อมบริเวณที่เป็นเซลล์เนื้อร้ายเอาไว้ ซึ่งภาพ AR นี้จะปรากฏขึ้นแบบสดๆ สอดคล้องกับภาพเนื้อเยื่อตัวอย่างในกล้องจุลทรรศน์ โดยจะแสดงภาพด้วยความถี่ราว 10 เฟรมต่อวินาที นั่นทำให้ในระหว่างการใช้งานจริง ผู้ใช้สามารถเลื่อนปรับตำแหน่งถาดเนื้อเยื่อได้โดยที่การแสดงภาพ AR ของระบบ ARM จะไม่หยุดชะงัก

Google ตั้งเป้าว่าระบบ ARM จะสามารถนำไปใช้งานสาขาอื่นนอกเหนือจากงานการแพทย์เพียงอย่างเดียว เช่น อาจใช้กับงานด้านวิเคราะห์ด้านวัสดุศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นจะต้องมีการเทรนปัญญาประดิษฐ์ด้วยชุดข้อมูลใหม่แตกต่างออกไปจากระบบวิเคราะห์หาเซลล์มะเร็งนี้

ที่มา - Google Research Blog

[source: https://www.blognone.com/node/101605]

Exit mobile version