ข่าวไอที Blognone » Meta โฉมใหม่? เมื่อ Mark ปรับ Personal Branding จะส่งผลต่อองค์กรยังไง?

Meta โฉมใหม่? เมื่อ Mark ปรับ Personal Branding จะส่งผลต่อองค์กรยังไง?

8 ตุลาคม 2024
4   0

นอกจากภาพสตีฟ จอบส์ ในเสื้อคอเต่าสีดำ อีกหนึ่งภาพเราน่าจะเคยเห็นจนชินตาคือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในลุคเสื้อยืดเทา กางเกงยีนส์ ที่ใส่มายาวนาน 13 ปี (ก่อนหน้านั้นเขาอินกับเสื้อฮู้ด) พร้อมผมสั้นที่เป็นดั่งลายเซ็นของเขาไปแล้ว

แต่ในปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะพอจับสังเกตได้บ้างแล้วว่าซัคเคอร์เบิร์กดูมีสไตล์มากขึ้น แต่น่าจะเห็นกันแค่คร่าว ๆ ไม่ได้คิดว่ามีอะไรพิเศษ หรือมีอะไรต้องสนใจขนาดนั้น

alt="Mark Zuckerberg"

แต่สื่อต่างประเทศดัง ๆ หลายเจ้า เริ่มหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นคำถามว่า ซัคเคอร์เบิร์กเปลี่ยนไปแค่ไหน และที่สำคัญกว่านั้น อะไรคือนัยของความเปลี่ยนแปลง

ครั้งนึงเคยมีคนถามเขากลาง Facebook Forum ว่าทำไมเขาถึงแต่งองค์ทรงเครื่องแบบเดิมทุกวัน คำตอบเขาก็สมศักดิ์ศรีซีอีโอในซิลิคอนวัลเลย์ นั่นคือ “ผมอยากให้ชีวิตเรียบง่าย ลดการตัดสินใจให้น้อยที่สุด” เขาต้องการเก็บพลังงานไว้ใช้กับเรื่องที่สำคัญจริง ๆ

หรือว่าวันนี้ การแต่งกาย จากที่ไม่สำคัญ ก็กลายเป็นธุระสำคัญสำหรับซัคเคอร์เบิร์กจนถึงขั้นที่เขายอมแบ่งเวลามาให้เสียแล้ว?

เรื่องมันเริ่มจากไหน?

จุดแรก ๆ ที่ทำให้คนหันมาจับตาสไตล์ของเขาคืองานแถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2024 ของ Meta ในงานมีการโชว์ฟีเจอร์ฟิลเตอร์ใน Instagram เพื่อโชว์พลังของ Meta AI ซึ่งซัคเคอร์เบิร์กเป็นคนเล่นฟิลเตอร์นั้นเอง

alt="Mark zuckerberg"

จุดที่คนสนใจกลับกลายเป็นตัวเขาเองที่มาในลุคใหม่ มีความเซอร์ขึ้น ผมหยักศกมีวอลุ่ม มาพร้อมสร้อยเงินเส้นโต และพอลองฟิลเตอร์เคราก็เข้ากับหน้าเขาอย่างน่าประหลาดใจ ฉีกภาพเดิม ๆ ที่คนชินตา และกลายเป็นไวรัลไปอีกระยะนึงเลย

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 2 เดือน เขาได้โซโล่ยาวคนเดียวในพ็อดแคสต์ Morning Brew Daily อย่างลื่นไหลเป็นกันเอง เล่าเรื่องสัพเพเหระตั้งแต่เทคโนโลยี สไตล์การเป็นผู้นำ จนถึงงานอดิเรกในการเลี้ยงวัวของเขา

คือถ้าเป็นคนอื่นจะไม่แปลกใจ แต่นี่คือซัคเคอร์เบิร์กที่คนมักจะมองว่าเข้าถึงได้ยากและดูแข็ง ๆ จนผู้ชมในยูทูปถึงขั้นถล่มคอมเมนต์แซวกันว่า AI ของ Meta เดี๋ยวนี้เก่ง สามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว

ภาพลักษณ์รวม ๆ ของในพักหลังของซัคเคอร์เบิร์กเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จากหุ่นแอนดรอยด์ (คำที่ชาวเน็ตชาวแซว) เสื้อเทา มาวันนี้เขามาในทรงหนุ่มฮอตรักแฟชัน ชอบเล่นกีฬาโดยเฉพาะ MMA แถมยังมีงานอดิเรกคือการเลี้ยงวัวในบ้านสวน (หรืออาณาจักร) ที่ฮาวาย

alt="Mark Zuckerberg"

คำถามที่น่าสนใจคือ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องส่วนตัวล้วน ๆ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ Personal Branding ของซีอีโอ ที่ต้องการยิ่งชิ่งไปถึงภาพลักษณ์องค์กร ตรงนี้เราน่าจะไม่ได้คำตอบชัด ๆ จากที่ไหนแน่ ๆ

แต่ถ้ามองในมุมของการวิเคราะห์ สื่อไม่น้อยเห็นตรงกันว่านี่คือเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับภาพลักษณ์องค์กร คือถ้านี่เป็นแค่เรื่องของซัคเคอร์เบิร์กล้วน ๆ เขาน่าจะเก็บทุกความเปลี่ยนแปลงเอาไว้แค่การโพสต์ใน Instagram

alt="Mark Zuckerberg"

แต่เขาเลือกขึ้นเวที Meta Connect งานสำคัญประจำปีของบริษัท ด้วยเครื่องแต่งกายที่เขาออกแบบร่วมกับดีไซน์เนอร์​ชื่อดัง (พร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่คือแว่น Orion AR Glasses) โดยตัวเสื้อเขียนกลางหน้าอกด้วยภาษาละตินว่า Aut Zuck Aut Nihil หรือ Either Zuck or Nothing สื่อความว่าถ้าไม่ชนะอย่างเด็ดขาดก็ยอมแพ้ไปเลยดีกว่า มองในมุมนี้ เครื่องแต่งกายคือเรื่องที่ผ่านการคิดมาแล้ว

alt="Mark Zuckerberg"

พอแล้วกับคำขอโทษ: ไขปริศนาทิศทางใหม่ Meta หลังซัคเคอร์เบิร์กปรับลุค

ต้นเดือนที่ผ่านมา ซัคเคอร์เบิร์กขึ้นเวที Acquired Podcast เพื่อพูดต่อหน้าผู้ชมหลายพันคน หนึ่งเรื่องที่น่าสนใจที่เขาได้กล่าวถึงคือการยอมรับว่า ความผิดพลาดครั้งใหญ่ในช่วง 20 ปีของเขาคือการประเมินเรื่องการเมืองผิดไป แบกรับปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมากเกินไป (แต่ฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นความรับผิดชอบของ Facebook) เช่น กรณี Cambridge Analytica ซึ่งตอนนี้เขาหาสมดุลเจอแล้ว

ก่อนงานดังกล่าวไม่นาน ซัคเคอร์เบิร์กเคยออกมาบอกว่า Meta โดนรัฐบาลไบเดนกดดันให้ลบคอนเทนต์บางประเภทในช่วงโควิด และเสียใจที่พูดเรื่องนี้ช้าเกินไป

และวรรคสำคัญที่เขาได้กล่าวในงานจนสื่อหลายเจ้าต้องหยิบจับไปพาดหัวคือ “วันคืนที่เขาจะต้องพร่ำขอโทษได้จบลงแล้ว”

TechCrunch ตั้งประเด็นไว้น่าสนใจว่าแม้ซัคเคอร์เบิร์กจะพูดกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจง แต่นี่เป็นการพูดถึงบทบาทของ Facebook ในการควบคุมเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ซึ่งที่ผ่านมา Meta แสดงท่าทีที่ค่อนข้างสื่อว่าจะลดบทบาทในด้านนี้ลง เช่น การที่ Meta ยกเลิกข้อจำกัดบัญชีของ Donald Trump ทั้ง Facebook และ Instagram (การบอกว่าเสียใจที่ลบคอนเทนต์บางประเภทก็เข้าข่าย)

alt="Mark Zuckerberg"

New York Times เคยรายงานถึงท่าทีระหว่างฝ่ายขวาของการเมืองสหรัฐฯ (ที่ไม่ต้องการให้รัฐมีบทบาทเหนือเอกชน) กับซัคเคอร์เบิร์กเอาไว้ โดยชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเขาได้ต่อสายตรงถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงสองครั้ง แต่ไม่เคยติดต่อหากมลา แฮร์ริส จากฝั่งเดโมแครตเลย

ที่สำคัญคือ ซัคเคอร์เบิร์กได้จ้างไบรอัน เบเกอร์ นักกลยุทธ์ของพรรครีพับบลิกัน เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างเขากับสื่อฝ่ายขวาตลอดจนนักการเมืองในพรรคอีกด้วย

จุดที่น่าสนใจคือในงาน Acquired Podcast เสื้อที่เขาใส่ขึ้นพูดเขียนด้วยภาษาละตินว่า Pathei Mathos หรือเรียนรู้จากความผิดพลาด และอย่างที่เล่าไปแล้ว ความผิดพลาดที่เขาพูดถึงในงานนี้ก็คือการแบกรับปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมากเกินไปจากฝ่ายการเมือง

alt="Mark Zuckerberg"

สรุป

หลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นตัวตนที่พินอบพิเทาน้อยลงของ Meta จากการเปลี่ยนร่างที่ New York Times เรียกว่า Meta-morphosis (เล่นกับคำว่า Metamophosis ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงภายนอกเหมือนกัน) โดย Techcruch เองก็ให้ความเห็นว่า ถ้านี่ไม่ใช่วิกฤติวัยกลางคนของซัคเคอร์เบิร์ก ก็ต้องเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ถักถอขึ้นอย่างละเมียดละไม

Arwa Mahdawi นักข่าวจาก The Guardian เขียนบทความแสดงความเห็นค่อนข้างรุนแรงว่า นี่เป็นการลดภาพตัวร้ายของ Facebook ด้วยการพลิกรูปโฉมของซีอีโอให้เป็นปุถุชนที่เป็นมิตรและจับต้องได้มากขึ้น

ในมุมของคนสนิทอย่าง Daniel Ek ซีอีโอ Spotify เขาบอกว่านี่คือ Mark 3.0 โดยเวอร์ชัน 1.0 คือตอนที่ซัคเคอร์เบิร์กเป็นไอคอนผู้ผลักดันโซเชียลมีเดียยุคเริ่มแรก 2.0 คือ Evil Mark ที่อื้อฉาวหลังกรณี Cambridge Analytica ส่วน Mark 3.0 คือซัคเคอร์เบิร์กในแบบที่กลับสู่แรงผลักดันดั้งเดิมและเปี่ยมด้วยพลังงาน

คำถามที่อยากจะส่งท้ายเพื่อนำไปสู่การถกเถียงต่อไปก็คือ พลังงานที่ว่าของซัคเคอร์เบิร์กยุคใหม่ กำลังจะนำเราไปสู่อะไร?

อ้างอิง: TechCrunch New York Times The Guardian Axios

[source: https://www.blognone.com/node/142425]