ศึกสมรภูมิห้องนั่งเล่น เป็นสมรภูมิที่กูเกิลให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะกูเกิลเคยพยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถทำได้สำเร็จซักที ในปี 2010 ถ้าหากยังจำกันได้ ความพยายามครั้งแรกของกูเกิลในการเข้าสู่สมรภูมิรบนี้กับแพลตฟอร์ม Google TV ที่กูเกิลได้ผูกพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่แห่งวงการทีวีอย่าง Sony แต่สุดท้ายแล้วกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะเริ่มแรกของ Google TV นั้นยังไม่มีลูกเล่นอะไรนอกจากเป็นทีวีที่ออกอินเตอร์เน็ตได้ แถมยังไม่สามารถโหลดแอพจากภายนอกเพิ่มได้ เพราะยังไม่มี Android Market (ชื่อเก่าของ Google Play Store) อยู่ใน Google TV
ในปี 2011 กูเกิลยังพยายามเข็น Google TV อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นเจเนเรชั่นที่ 2 ของ Google TV ซึ่งมาพร้อมกับ Android 3.1 HoneyComb นอกจากนี้ยังได้ใส่ Android Market ทำให้ Google TV สามารถโหลดแอพเพิ่มเติมจากภายนอกได้แล้ว
ในปี 2012 กูเกิลได้อัพเดต Google TV อีกครั้ง โดยครั้งนี้ถือเป็นเจเนเรชั่นที่ 3 ของ Google TV ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการค้นหาด้วยเสียง ซึ่งจุดนี้ทำให้ Google TV สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น (ตามวีดิโอด้านบน) และในปีเดียวกัน กูเกิลได้ลองแย็บหมัดเบาๆ กับ Nexus Q มัลติมีเดียสตรีมมิ่งที่สามารถส่งเพลงและวิดีโอจากบนมือให้ไปแสดงบนทีวีได้ เนื่องด้วยราคาที่ค่อนข้างแพง ($299) แต่มีความสามารถที่ดูยังไงก็ไม่สมกับราคาเสียเลย ทำให้เสียงตอบรับของ Nexus Q ค่อนข้างแย่จนกระทั่งกูเกิลทำแท้ง Nexus Q โดยที่มันยังไม่ทันได้ขาย (เปิดให้จองแต่กูเกิลก็ยกเลิกไป)
ในปี 2013 กูเกิลได้นำหลักการของ Nexus Q ไปพัฒนาต่อโดยย่อส่วนและย่อราคา จนกระทั่งออกมาเป็น ChromeCast ที่มีฟีเจอร์ที่คล้ายคลึงกับ Nexus Q แต่ราคาน่าคบหากว่าเยอะ ทำให้ ChromeCast ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่วน Google TV ได้มีการอัพเดตเป็น Android 4.2.2
จนกระทั่งในปีนี้ (2014) กูเกิลได้ทำการรีแบรนเปลี่ยนชื่อจาก Google TV เป็น Android TV โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามาใน Android TV นี้ก็คือการรองรับมัลติมีเดียสตรีมมิ่ง (เหมือนกับ ChromeCast) รองรับการควบคุม Android TV จาก Android Wear รองรับการเล่นเกมมากขึ้น และมาพร้อมกับ Android Lollipop
Android TV จะรุ่งหรือจะริ่ง
ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า Android TV จะไม่แป๊กเหมือน Google TV เพราะสาเหตุหลักๆ ที่ Google TV ล้มไม่เป็นท่าเพราะระบบนิเวศ (ecosystem) ของ Google TV นั้นไม่มีความพร้อมเอาเสียเลย โดยเฉพาะเนื้อหาทางดิจิทัล (digital content) อย่าง Google TV เจเนเรชั่นแรกนั้นยังไม่มี Android Market เพิ่งจะมามีในเจเนเรชั่นที่ 2 และในส่วนของการป้อนข้อมูลที่ทำได้ยากใน 2 เจเนเรชั่นแรก เพิ่งจะมีการปรับปรุงในเจเนเรชั่นที่ 3 ให้รองรับการกรอกข้อมูลผ่านเสียงได้
ส่วนการปรับปรุงด้านเนื้อหาดิจิทัล นับตั้งแต่ Google เปลี่ยนชื่อจาก Android Market เป็น Google Play Store ดูเหมือนว่า Google จะทำการเตรียมความพร้อมให้กับเนื้อหาทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเพลง (Play Music) ภาพยนต์และรายการทีวี (Play Movie) และสุดท้ายคือเกม (Play Game) ที่กูเกิลพยายามสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตเนื้อหาให้มาสร้างเนื้อหาบน Play Store มากขึ้น แต่ในท้ายที่สุดแล้ว Android TV ยังไงก็ยังไม่เหมาะกับคนไทยอยู่ดี เพราะเนื้อหาทางดิจิทัลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่รองรับการให้บริการในประเทศไทย แต่ถ้าจะซื้อมาเล่นเกมนั่นก็เป็นอีกเรื่องนึง
Nexus Player ถือเป็นอุปกรณ์ Nexus ตัวแรกที่เป็น set top box โดยกูเกิลได้จับมือกับ ASUS ร่วมกันพัฒนาจนออกมาเป็น Nexus Player ซึ่งสเปกถือว่าแรงเอาเรื่อง เพราะใช้ชิปเซ็ต Intel Atom Quad-Core 1.8 Ghz หน่วยความจำภายใน 8 GB รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi เท่านั้น
โดยกูเกิลจะเปิดขาย Nexus Player ผ่านทาง Play Store แต่จะเริ่มเปิดให้จองก่อนในวันที่ 17 ตุลาคม และเริ่มขายจริงวันที่ 3 พฤศจิกายน สนนราคาอยู่ที่ $99 ซึ่งจะไม่แถมจอยเกมมาให้ ต้องซื้อแยกต่างหาก
ที่มา Google ผ่าน Android Central