ข่าวไอที Blognone » Satya Nadella เผยสิ่งที่ทำให้ Microsoft กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง: วัฒนธรรมองค์กร, เข้าใจโลกนักพัฒนา และคลาวด์

Satya Nadella เผยสิ่งที่ทำให้ Microsoft กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง: วัฒนธรรมองค์กร, เข้าใจโลกนักพัฒนา และคลาวด์

16 ธันวาคม 2018
5   0

นิตยสาร Forbes ได้สัมภาษณ์พิเศษ Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์ ซึ่งผลงานโดดเด่นล่าสุด ก็คือการพาไมโครซอฟท์ไปสู่บริษัทที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลกอีกครั้ง แซงหน้าทั้งแอปเปิลและ Amazon ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียง 4 ปี กับอีก 10 เดือน นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งซีอีโอคนที่ 3 ของไมโครซอฟท์ต่อจาก Steve Ballmer (2000-2014) และ Bill Gates (1975-2000)

Nadella บอกว่า สิ่งที่เขายึดถือมากที่สุดในการบริหารไมโครซอฟท์คือคำแนะนำของ Bill Gates ที่บอกว่า "ให้ทุกดอลลาร์ที่เรา (ไมโครซอฟท์) ทำเงินได้ เป็น 5 หรือ 10 ดอลลาร์ ที่คนภายนอกทำเงินได้" ความหมายก็คือให้ไมโครซอฟท์สร้างผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ธุรกิจองค์กรสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้อีก ไม่ใช่ไมโครซอฟท์ที่ทำเงินเพียงฝ่ายเดียว

alt="Satya Nadella"

เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร

อดีตวิศวกรของไมโครซอฟท์คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ Nadella ได้ทำในช่วงแรกของการรับตำแหน่งซีอีโอ และทำให้คนไมโครซอฟท์เชื่อมั่นก็คือการให้ความสำคัญเท่าเทียมกันในทุกหน่วยธุรกิจ และกำหนดให้ทุกหน่วยเติบโตพร้อมสร้างได้ในระดับใกล้เคียงกัน

การเปิดกว้างให้กับผลิตภัณฑ์ที่ไมโครซอฟท์เคยมองเป็นคู่แข่งและหลีกเลี่ยงมาตลอด คืออีกสิ่งที่ Nadella ได้ทำให้คนประหลาดใจ ในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังเขารับตำแหน่งซีอีโอ Azure ได้เพิ่มบริการสำหรับนักพัฒนาที่เขียนแอปสำหรับ iOS จากนั้นเขาทำสิ่งที่เกินคาดหมายอย่างการเดโมแอปบน iPhone แถมเวลาต่อมาเขายังยอมตัดขาดทุนดีลโนเกียอีก 7.6 พันล้านดอลลาร์ เพื่อส่งสัญญาณว่านี่คือความผิดพลาด

ความท้าทายที่เขาเอาชนะได้อีกประการคือการสู้กับวัฒนธรรมองค์กรไมโครซอฟท์ ที่มองผลิตภัณฑ์คู่แข่งแบบไม่มีทางร่วมมือกันเด็ดขาด จนเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรได้ เรื่องนี้เกิดจากมุมมองดั้งเดิมที่ว่าระบบปฏิบัติการ Windows เป็นเหมือนเครื่องจักรผลิตเงินสดให้ไมโครซอฟท์มายาวนาน จึงไม่ควรไปทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงให้กระทบกับรายได้ Windows แต่เมื่อการเกิดขึ้นของคลาวด์จาก AWS ของ Amazon และโมเดลสมัครใช้ซอฟต์แวร์แบบ Salesforce เข้ามา ไมโครซอฟท์ก็ต้องปรับตัว

โฟกัสที่คลาวด์

ไมโครซอฟท์เปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิมในการใช้งาน Linux บน Azure ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนหัวหน้าทีมเป็น Scott Guthrie ที่ผลักดัน Linux มากขึ้น จนทำให้ส่วนแบ่ง Linux บนเครื่องที่อยู่ใน Azure มีถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ทำให้คลาวด์ของไมโครซอฟท์ได้รับการยอมรับมากขึ้น และโอกาสก็ยังมีอีกมาก (รายได้คลาวด์ Amazon 27,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไมโครซอฟท์อยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ และกูเกิล 3,000 ล้านดอลลาร์)

alt="Linux"

คลาวด์กลายเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์โฟกัสว่าเป็นโอกาสทำเงินครั้งใหญ่ พาร์ทเนอร์ตัวแทนจำหน่ายได้รับส่วนแบ่งที่มากขึ้นหากเป็นการจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับคลาวด์ เพื่อเปลี่ยนผ่านลูกค้าเดิมให้มาใช้บริการคลาวด์มากขึ้นอย่างเช่น Office 365 อย่างไรก็ตามใช่มีแค่คลาวด์จะเป็นโอกาสทำเงิน เพราะธุรกิจที่ไมโครซอฟท์อยู่ในตลาดมานานอย่าง เกม, เสิร์ช และฮาร์ดแวร์ตระกูล Surface ก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตมากเช่นกัน

เข้าใจโลกนักพัฒนา

ไมโครซอฟท์ซื้อกิจการ Xamarin ผู้พัฒนาเทคโนโลยี .NET แบบโอเพนซอร์สในปี 2016 ซึ่งถือเป็นดีลหนึ่งในการทำให้ไมโครซอฟท์มีภาพลักษณ์เปิดกว้างกับโลกของนักพัฒนามากขึ้น

ช่วงเวลานั้น Nadella เองก็กำลังเจรจาดีลซื้อกิจการอีกสองบริษัทคือ LinkedIn (ซื้อสำเร็จในปีเดียวกัน) และ GitHub ซึ่งรายหลังนั้นปฏิเสธไมโครซอฟท์ในทันทีที่เสนอกิจการ ทำให้ Nadella พบว่า ไมโครซอฟท์ในตอนนั้นมีภาพลักษณ์ที่นักพัฒนายังไม่เชื่อใจมากพอ

ผ่านไปสองปี ไมโครซอฟท์กลับไปยื่นข้อเสนออีกครั้ง (โดยมีกูเกิลเป็นคู่แข่ง) และในที่สุด GitHub ก็เลือกขายกิจการให้ไมโครซอฟท์ด้วยมูลค่าประวัติศาสตร์กว่า 7.5 พันล้านดอลลาร์

alt="Nadella"

การซื้อกิจการได้คือก้าวแรกว่าไมโครซอฟท์ทำให้บริษัทเหล่านี้เชื่อใจ แต่สิ่งที่ยังต้องพิสูจน์ต่อไปในระยะยาวของ Nadella ก็คือ ไมโครซอฟท์จะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ซื้อกิจการมาสร้างประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหนต่อจากนี้

ที่มา: Forbes

[source: https://www.blognone.com/node/107033]