ข่าวไอที Blognone » Sleep Shepherd หมวกนิทราแก้ปัญหาคนนอนไม่หลับ

Sleep Shepherd หมวกนิทราแก้ปัญหาคนนอนไม่หลับ

2 ตุลาคม 2014
41   0

ในขณะที่หลายคนแถวนี้อาจมีปัญหาทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลานอน กลับยังมีคนอีกไม่น้อยที่เจอปัญหาตรงกันข้ามเพราะนอนไม่ค่อยจะหลับ ซึ่งคนกลุ่มหลังก็มักจะต้องพึ่งยานอนหลับเป็นตัวช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนยามค่ำคืน ทว่าวันนี้มีทางเลือกใหม่ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ หมวกนิทรา Sleep Shepherd ได้ถือกำเนิดมาช่วยแก้ปัญหานี้แล้ว

Sleep Shepherd คือหมวกบีนนี่ (จะเรียกว่าเป็นหมวกไหมพรมก็ไม่เชิง เพราะแม้จะทรงเดียวกันแต่ Sleep Shepherd ก็ไม่ได้ทำมาจากไหมพรม) ที่จะช่วยกล่อมผู้สวมใส่ให้หลับและตื่นได้ในเวลาที่เหมาะสม การทำงานของมันอาศัยเซ็นเซอร์ภายในหลายตัวร่วมกับตัวส่งสัญญาณไปที่สมอง

Dr. Michael Larson ผู้ประดิษฐ์ Sleepy Shepherd ได้อธิบายว่าสมองของคนเรามีส่วนที่เรียกว่า Medial Superior Olive (เรียกโดยย่อว่า MSO) ทำหน้าที่ระบุทิศทางของแหล่งเสียง เป็นต้นว่า เมื่อคนยืนพูดอยู่ทางด้านซ้ายของเรา เสียงที่ผ่านมาถึงหูมีการแปลงสัญญาณไปถึง MSO ซีกซ้ายจะใช้เวลาเดินทางเร็วกว่าสัญญาณที่มาถึง MSO ซีกขวา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้รับรู้ได้ว่าต้นเสียงมาจากตำแหน่งไหน โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่แตกต่างกันของสัญญาณที่มาถึง MSO ในแต่ละซีกนั่นเอง ซึ่ง Sleep Shepherd ก็จะส่งสัญญาณตรงไปยัง MSO ซีกซ้ายและขวานี้สลับกันไปมา จนทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนตัวผู้ใช้กำลังกระเด้งไปมาระหว่างเตียงสปริง 2 ตัว (เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Virtual Hammock®) ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ คือทำให้สมองสร้างสัญญาณคลื่นสมองด้วยความถี่ที่ต่ำลงและแปรเปลี่ยนเป็นความง่วงในที่สุด

เมื่อผู้ใช้เข้าสู่สภาวะหลับสนิท ตัวปล่อยสัญญาณของ Sleep Shepherd จะหยุดทำงาน แต่ระบบเซ็นเซอร์วัดคลื่นสมองจะยังคอยเฝ้าดูสัญญาณอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่สัญญาณคลื่นสมองเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ชี้ว่าผู้ใช้กำลังจะตื่น ระบบตัวปล่อยสัญญาณของ Sleep Shepherd ก็จะทำงานอีกครั้งเพื่อกล่อมผู้ใช้ให้ยังคงหลับต่อเนื่องจนกว่าจะถึงเวลาตื่นที่เหมาะสม

ใครที่มีปัญหาเจอเพื่อนร่วมเตียงชอบสะกิดบ่อยๆ ด้วยข้ออ้างว่านอนไม่หลับ น่าจะลองซื้อไปให้เขาใช้ได้ โดยตอนนี้สามารถสั่งจองได้จากหน้าระดมทุนของโครงการสร้าง Sleepy Shepherd บน Kickstarter ในราคาถูกสุดใบละ 119 ดอลลาร์ คาดว่าจะมีสินค้าส่งได้จริงในช่วงต้นปีหน้า โดยตอนนี้โครงการยังขาดเงินอีกราว 35,000 ดอลลาร์กับเวลาระดมทุนอีก 28 วัน

ที่มา - Engadget

How it Works Animation from Joe Griebel on Vimeo.

Brain, Kickstarter, Wearable Computing

[source: https://www.blognone.com/node/61145]