thumbsup » Social Toxic เสพคอนเทนต์ออนไลน์อย่างไร ไม่ทำให้ใจรู้สึกป่วย

Social Toxic เสพคอนเทนต์ออนไลน์อย่างไร ไม่ทำให้ใจรู้สึกป่วย

7 มิถุนายน 2022
18   0

เมื่อเรากำลังอยู่ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ทั้งเรื่องของการทำงาน ชีวิตประจำวัน หรือการเข้าสังคม ส่งผลให้มนุษย์เราจำเป็นต้องเข้าไปเสพและแสดงความคิดเห็น จนบางครั้งเริ่มแยกไม่ออกว่าเรากำลังเสพติดเรื่องของคนอื่นมากเกินไป จนแสดงความคิดเห็นที่เกินพอดีไปหรือเปล่า

ผู้ใช้โซเชียลบางคน อาจจะเริ่มเห็นเพื่อนบางคนบนโลกออนไลน์ มีการทำ Social Detox หรือการบำบัดอาการเสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อบำบัดอาการเสพติดการใช้โซเชียลที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ จนเกิดความเครียดกันบ้าง เพื่อให้สภาพจิตใจฟื้นฟูกลับมาดีขึ้นดังเดิม แต่การบำบัดนั้นช่วยบรรเทาสุขภาพใจได้ดีแค่ไหน เมื่อเราต้องกลับมาคลุกคลีกับโซเชียลมีเดียอีกครั้ง วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กัน

สำรวจสภาพใจก่อนว่ากำลังเจอปัญหาหรือไม่?

หากคุณกำลังรู้สึก

  • เครียด จิตตกกับการเสพข้อมูลข่าวสาร
  • อ่านคอมเมนต์ของคนอื่นแล้วรู้สึกแย่ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของเรา
  • แสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมกับข่าวหรือบทความ ในเชิงลบ
  • รู้สึกคุณค่าของตนเองลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น
  • ต้องโพสต์ข้อความ ถ่ายรูป หรืออัปเรื่องราวของตนเองลงบนโซเชียล
  • ถ้าไม่โพสต์อะไรสักอย่างจะรู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด
  • หยิบโทรศัพท์เมื่อไหร่ต้องอยู่บนหน้าฟีดตลอด
  • เปิดสลับแค่ Facebook, Twitter, Instagram, TikTok หรือแอปต่างๆ ที่ใช้เวลากับมันนานๆ

ที่จริงอาการเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนที่เสพติดโซเชียลมีเดียนะคะ บางคนอาจจะมีอาการอื่นๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นผลต่อเนื่องมาจากเรื่องเดียวกัน ดังนั้น ลองสำรวจดูว่ามีอาการเข้าข่ายแบบนี้หรือเปล่า

แล้วอาการเหล่านี้ ส่งผลอะไรต่อสภาพกายและจิตใจของเราได้บ้าง

  • นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า : อาการซึมเศร้านี่แทบจะเรียกได้ว่า กลายเป็นอาการป่วยทางใจ ที่พบเห็นได้ทั้งกลุ่มเจน X, Y, Z เลยนะคะ ยิ่งเป็นคนที่จำเป็นต้องทำงานออนไลน์ เช็คเทรนด์ เช็คกระแส หรือคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อลดความผ่อนคลาย แต่อาจจะกลายเป็นดาบสองคม คือเสพติดจนแยกเรื่องราวบนโซเชียลกับชีวิตจริงไม่ออกจนส่งผลกระทบทางจิตใจได้
  • มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดตา แสบตา : อันนี้อาจจะเป็นอาการภายนอกทางกายที่มาจากการที่เราก้มหน้าเล่นมากเกินไป หรือเปิดจอดูตอนนอนที่ปิดไฟ ก็ต้องรักษาไปตามอาการ เพราะทั้งทำงานหน้าคอมหรือใช้มือถือตลอดเวลาก็ส่งผลให้เจ็บป่วยภายนอกได้ค่ะ
  • หงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่สบตาฝ่ายตรงข้ามที่พูดคุยด้วย : อาการนี้มาจากปัญหาทางจิตใจที่ส่งผลต่อทางกาย อาจเพราะเราอยู่กับคอมพิวเตอร์หรือมือถือมากเกินไป และการอ่านโซเชียลแม้จะมีการโต้ตอบแต่ก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ แต่เมื่อเจอการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริง เราอาจจะทำได้ไม่ดีพอ จนส่งผลให้เราขาดการเข้าสังคมกับคนอื่นๆ ได้นะคะ
  • หมดความเชื่อมั่นหรือนับถือในตนเองน้อยลง : เมื่อพิษร้ายจากการเสพโซเชียลส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณมากๆ แน่นอนว่าคุณอาจจะพยายามเปลี่ยนตัวเองคนเดิมให้เหมือนกับคนในโซเชียลมากขึ้น เช่น ใช้แอปแต่งภาพจนไม่เหมือนเดิม พยายามอดอาหารเพื่อให้ผอมจนป่วย พยายามอัปเกรดตัวเองให้ดูหรูหราจนเกินงบในกระเป๋า เพื่อยอดไลค์หรือได้รับคอมเมนต์ชื่นชมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นผลกระทบที่เราเห็นได้บ่อยในกลุ่มสาวๆ ที่อยากจะเรียกความเชื่อมั่นในตนเองหรือได้รับคำชมจากคนในโซเชียล จนบางครั้งอาจลืมไปว่า ความเป็นตัวของตัวเองนั้น คือสิ่งที่ดีที่สุด และหากโซเชียลทำให้จิตใจของคุณ “ดิ่ง” มากเกินไป ก็ควรเริ่มที่จะจัดการ Detox Social ได้แล้วนะคะ

Social Detox คืออะไร

การดีท็อกซ์ ก็คือการเอาสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อเป็น Social Detox ก็คือการบำบัดอาการเสพติดโซเชียลมีเดีย หรือ พาตัวเองออกจากโซเชียลมีเดียเพื่อพักกาย พักใจ พักสมองและเรียกความเชื่อมั่นของตนเองกลับมานั่นเองค่ะ

หากใช้วิธีแบบหักดิบเลยก็คงจะยากเกินไป ยิ่งถ้าเราต้องทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยแล้ว เราต้องลองวางตารางการงดใช้งานโซเชียลมีเดีย เพื่อที่จะแก้ปัญหาอาการเสพติดโซเชียลเหล่านี้ค่ะ

  • งดการใช้โซเชียลมีเดียบางช่วงเวลา : อาจสร้างเป็นปฏิทินไว้เลยว่าในช่วง 7 วันแรก เราจะงดการใช้โซเชียลมีเดียตอนไหนบ้าง เพื่อทำให้ง่ายต่อการลดปริมาณการเข้าใช้งานและจัดระเบียบชีวิตให้ง่ายขึ้น (ตารางการปรับตัวใช้งานโซเชียลมีเดีย)
  • ปิดการแจ้งเตือนหรือลบแอปพลิเคชั่น : หากยังต้องทำงานออนไลน์อย่างนักการตลาด แบรนด์ หรือเป็นแอดมิน อาจจะยากที่ต้องลบแอปไปเลย อาจจะเริ่มจากการปิดการแจ้งเตือนก่อนโดยจะเลือกเป็นช่วงวันหยุดที่ไม่ได้ทำงาน หรือช่วงพักที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เพื่อลดความกังวลจากการเช็คการแจ้งเตือนตลอดเวลา
  • หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ : ช่วงวันหยุด หลังเลิกงาน หลังเลิกเรียน ลองหากิจกรรมใหม่ๆ ทำดู ไม่ว่าจะเป็น เรียนภาษา ทำอาหาร ทำงานฝีมือ หรือออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดการใช้งานโซเชียลมีเดียหรือท่องโลกออนไลน์ลง
  • ออกจากกลุ่มที่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง : บางครั้งกลุ่มแชทมากมาย หรือกรุ๊ปต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย อย่างกลุ่มเพื่อนสมัยเรียน กลุ่มเพื่อนทำงาน กลุ่มโปรเจ็คงาน กลุ่มคนหางาน กลุ่มแฟชั่น กลุ่มเม้าท์ อะไรมากมายแบบนี้ก็มีการพูดคุยหรือชักชวนให้เราจำเป็นต้องเข้าไปเช็คเทรนด์หรือดูกระแสบ่อยๆ ลองออกจากกลุ่มที่ไม่ข้องเกี่ยวเหล่านี้ เพื่อลดการเข้าไปอ่านหรือดูข้อมูลซ้ำๆ
  • ถ้าใจไม่ไหวก็ลบแอปเลย : แน่นอนที่สุด การไม่มอง ไม่เห็น ไม่เข้าไปดูหรือไม่กดเข้าไปในแอปนั้นๆ เลย ย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเราจะไม่เห็นว่ามีการแจ้งเตือนอะไร ไม่เห็นว่าสังคมออนไลน์ผู้คนกำลังพูดถึงสิ่งใด และทำให้เราหันออกไปมองสิ่งรอบตัวมากขึ้น ลดความกดดันและปัญหาต่างๆ ได้ดีอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ เมื่อเราตัดสินใจจะพักหรือหยุดการใช้โซเชียลเพื่อเป็น detox จิตใจและร่างกายของตนเองแล้วก็ต้องบอกคนใกล้ชิดสักหน่อย เผื่อว่าการที่เราหายไปเลย ติดต่อไม่ได้เพื่อนที่สนิทของเราอาจจะมีความกังวลว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น หรืออย่างน้อยเพื่อนก็จะช่วยรับฟังและดูแลจิตใจเราได้อีกทางหนึ่ง

ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่กำลังรู้สึกว่า ตนเองกำลังโดนโซเชียลมีเดียคุกคามและอยากหลบไปพักให้ฟื้นกาย ฟื้นใจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไวนะคะ

The post Social Toxic เสพคอนเทนต์ออนไลน์อย่างไร ไม่ทำให้ใจรู้สึกป่วย appeared first on Thumbsup.

[source: https://www.thumbsup.in.th/social-toxic-online-content?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=social-toxic-online-content]